เครื่องมือค้นหา
หน้าแรก » บทความด้านการศึกษา » การศึกษาไม่ใช่เพียงทรัพย์สูงค่า แต่ยังเป็นอาวุธในการสู้รบทุกอย่าง

การศึกษาไม่ใช่เพียงทรัพย์สูงค่า แต่ยังเป็นอาวุธในการสู้รบทุกอย่าง

โพสต์โดย : Admin เมื่อ 17 พ.ค. 2563 08:11:48 น. เข้าชม 166311 ครั้ง

 รับทำเว็บโรงเรียน 5900 ใช้งานได้เลย GED  |   IELTS  |   สอบ IELTS  |   สอบ TOEIC  |   CU-BEST  |   CU-TEP  |  
การศึกษาไม่ใช่เพียงทรัพย์สูงค่า แต่ยังเป็นอาวุธในการสู้รบทุกอย่าง
แจกฟรีโปรแกรมจัดตารางเรียน แจกฟรีโปรแกรมเช็คชื่อ บันทึกความดี

ดูในรายการ : บทความด้านการศึกษา ทั้งหมด

กดติดตาม Facebook และ YouTube ห้องพักครูเพื่อเป็นกำลังใจ
การศึกษาไม่ใช่เพียงทรัพย์สูงค่า แต่ยังเป็นอาวุธในการสู้รบทุกอย่าง
ปัญหาของคนที่เป็นพ่อแม่ก็คือ “จะให้สิ่งดีๆ กับลูกได้แค่ไหน” โดยเฉพาะในเรื่องการศึกษาที่เป็นเครื่องวัด “ราคา” ของคนในสังคมมาตั้งแต่โบราณ ทุกครอบครัวจึงขวนขวายให้ลูกได้เรียนดีๆ ที่หมายถึงโรงเรียนที่มีชื่อเสียง

ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

การศึกษาไม่ใช่เพียงทรัพย์สูงค่า แต่ยังเป็นอาวุธในการสู้รบทุกอย่าง

ปัญหาของคนที่เป็นพ่อแม่ก็คือ “จะให้สิ่งดีๆ กับลูกได้แค่ไหน” โดยเฉพาะในเรื่องการศึกษาที่เป็นเครื่องวัด “ราคา” ของคนในสังคมมาตั้งแต่โบราณ ทุกครอบครัวจึงขวนขวายให้ลูกได้เรียนดีๆ ที่หมายถึงโรงเรียนที่มีชื่อเสียง และมีสภาพสังคม(เพื่อนร่วมเรียน)ดีๆ อย่างเหตุผลที่ตาและแม่ของผมให้ผมมาเรียนที่โรงเรียนวัดมกุฏกษัตริย์ก็เป็นด้วยเหตุนั้น แต่ว่าโรงเรียนในระดับนี้ก็มีกฎเกณฑ์มากมายในการที่จะรับนักเรียนเข้ามาเรียน ซึ่งผมก็มาทราบความจริงในภายหลังว่า กฎเกณฑ์ที่สร้างความยุ่งยากเหล่านั้นไม่ใช่กฎเกณฑ์ที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดขึ้นแต่อย่างใด แต่เป็น “ธรรมเนียม” ที่แต่ละโรงเรียนสร้างขึ้น เพื่อให้คนที่มาศึกษาเล่าเรียนได้ตระหนักถึง “คุณค่า” ของการศึกษา และจะได้ใช้ประโยชน์จากการศึกษานั้นให้ “คุ้มค่า”

โรงเรียนวัดมกุฏกษัตริย์ได้ตั้งธรรมเนียมขึ้นว่า นักเรียนที่จะมาเรียนที่นี่ต้องมี “ผู้ค้ำประกัน” คุณตาของผมเป็นตำรวจต้องเป็นผู้ค้ำประกันว่าผมจะตั้งใจเรียน จะไม่ทำความเสียหายให้กับโรงเรียน และจะออกไปใช้วิชาความรู้ในทางที่ดีเป็นประโยชน์แก่ตนเองและสังคมส่วนรวม การค้ำประกันนี้ต้องทำเป็นจดหมาย มีพยานเป็นคุณครูในโรงเรียน และสุดท้าย “อาจารย์ใหญ่” (ชื่อเรียกตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของโรงเรียนมัธยมในสมัยก่อน แต่ถ้าเป็นโรงเรียนประถมจะเรียกว่าครูใหญ่ ปัจจุบันผู้บริหารสูงสุดในโรงเรียนทุกระดับเรียกว่า “ผู้อำนวยการ” แม้แต่ในระดับอนุบาล)ต้องลงชื่อรับรอง พร้อมกันนั้นก็กำชับให้ผู้ปกครองต้องดูแลนักเรียนในปกครองของตนให้ตั้งใจเรียนและเป็น “คนดี” มิฉะนั้นอาจจะมีโทษถึงขั้นให้ออกจากโรงเรียน(ก็ได้)

เมื่อผมจบการศึกษามาแล้วหลายปี ในคราวที่มีการจัดงานชุมนุมศิษย์เก่าปีหนึ่ง ผมได้ถามเรื่องนี้กับคุณครูบุษบา คุณครูบอกว่าเรื่องนี้เป็น “กุศโลบาย” ของทางโรงเรียน ที่ท่านอาจารย์ใหญ่ในตอนนั้น คือ ท่านอาจารย์บุญยัง ทรวดทรง ท่านต้องการแก้ปัญหาเรื่องเด็กฝากซึ่งไม่สามารถที่จะไปห้ามใครๆ ได้ แต่เด็กที่ฝากเข้ามามักจะเป็นลูกของ “คนใหญ่คนโต” โดยเฉพาะพวกข้าราชการและพ่อค้า ที่ในบางโรงเรียนคนเหล่านี้สามารถจ่าย “แป๊ะเจี้ยะ” ได้ จึงทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองที่ฝากลูกด้วยวิธีนี้ชอบ “เบ่ง” เอากับโรงเรียน คือมักจะมากำชับให้โรงเรียนดูแลลูกหลานที่เขาเอามาฝากให้ดีๆ แม้แต่คะแนนเรียนก็ต้องได้คะแนนดีๆ ด้วย จึงกลายเป็นว่าคนพวกนี้รวมถึงนักเรียนที่คนพวกนี้ฝากมามี “อภิสิทธิ์” คือชีวิตที่เป็นพิเศษเหนือกว่านักเรียนคนอื่น ดังนั้นท่านจึงคิดอุบายให้มีการทำหนังสือรับรอง แต่แทนที่จะเรียกว่าหนังสือรับรองแบบที่ทางราชการทั้งหลายชอบใช้ ท่านก็ให้ใช้คำว่า “หนังสือค้ำประกัน” เพื่อให้ดูหนักแน่นและ “ศักดิ์สิทธิ์”

ในสมัยที่ผมเป็นนักเรียนในชั้นประถม คุณครูในสายตาของพวกเราก็คือ “ผู้ศักดิ์สิทธิ์” ส่วนใหญ่แล้วเราจะให้ความเคารพเชื่อฟังโดยดี นั่นก็เป็นเพราะครูดูเป็น “ผู้ใหญ่” เหลือเกินในสายตาเด็กๆ อย่างพวกเรา แต่พอเราเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ช่องว่างระหว่างวัยก็ดูแคบลง อีกทั้งร่างกายก็สูงใหญ่ขึ้นด้วยฮอร์โมนวัยรุ่น ยิ่งเป็นเด็กผู้ชายพออายุสัก 14-15 ปีก็จะตัวเท่าผู้ใหญ่อายุ 20 กว่านั้นแล้ว แล้วยิ่งในโรงเรียนชายล้วนที่มีครูจบใหม่ๆ เป็นผู้หญิง คุณครูสาวๆ เหล่านั้นก็ดูเหมือนเป็นแค่ “วัยรุ่นสาวๆ” ตัวเล็กๆ อ้อนแอ้น ที่ไม่ได้มีอะไรที่จะทำให้นักเรียนชายตัวโตๆ รู้สึกหวั่นเกรงอะไร มีแต่จะแอบคิดอะไร “ทะลึ่งๆ” และทำอะไร “ห่ามๆ” อย่างที่เด็กชายในวัยนี้กำลังเริ่มเรียนรู้และลองกระทำ

ครูบุษบาก็เป็นอีกคนหนึ่งที่เพิ่งจบจากรั้วมหาวิทยาลัยมาหมาดๆ ครูบุษบาเป็นคนตัวเล็ก ผิวขาว ตาโต หน้าตาจิ้มลิ้มแบบที่เรียกในสมัยนี้ว่า “คิกขุอาโนเนะ” ผมยาวสลวยถึงกลางหลังถูกรวบไว้ด้วยโบผ้าลูกไม้สีอ่อนๆ คุณครูแต่งตัวออกแนวน่ารักๆ เหมือนตุ๊กตา เสื้อตัวเล็กๆ แต่มีแขนพองๆ แบบที่เรียกว่าแขนตุ๊กตา กระโปรงจับจีบรอบตัวที่เรียกว่า “กระโปรงพลีท” ทั้งเสื้อและกระโปรงจะมีลวดลายคล้ายๆ กัน สีอ่อนๆ คุณครูแต่งหน้าบางๆ เหมือนจะมีแค่แป้งนวลๆ กับลิปสติกสีชมพูจางๆ ที่อาจจะเป็นนโยบายของโรงเรียนนี้เพื่อไม่ให้ครูสาวๆ แข่งขันกันแต่งตัวจน “เวอร์” เกินไป จนไม่น่านับถือหรือสื่อไปถึงอารมณ์อื่นๆ แก่เด็กๆ

ครูบุษบามีการเตรียมการสอนมาเป็นอย่างดี มีการทักทายและถามสารทุกข์สุกดิบกับนักเรียนในทุกคาบที่สอน โดยให้ความสำคัญกับนักเรียนที่ดูเงียบๆ หรือมีท่าทางคล้ายๆ กับว่ากำลังมีความทุกข์ความโศก ทั้งยังให้ความเอาใจใส่เป็นพิเศษกับนักเรียนที่นั่งแถวหน้าๆ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเป็นเด็กที่ตั้งใจเรียน ตรงกันข้ามกับพวกที่นั่งหลังห้องที่ครูบุษบาบอกว่า ถ้าไม่อยากดูหน้าครูใกล้ๆ ก็ขอให้เล่นกันเงียบๆ หลังห้อง แต่ถ้ามีการบ้านก็ขอให้ถามและลอกเอาจากเพื่อนแถวหน้า รวมถึงตรวจเอาคะแนนด้วยปากกาของเพื่อนที่ลอกนั้นเลย ไม่ต้องมาเอาคะแนนกับคุณครู ซึ่งก็ได้ผลดีเพราะไม่ว่าใครจะนั่งแถวไหนก็ตั้งใจเรียนเป็นอย่างดี ด้วยอาจจะกลัวว่าคุณครูจะไม่รับตรวจการบ้านและไม่ได้คะแนนนั่นเอง

คุณครูชอบเล่าเรื่องส่วนตัว เล่าถึงความเป็นอยู่กับพ่อแม่พี่น้องที่บ้าน ส่วนมากจะเป็นเรื่องอาหารการกิน รายการทีวี การดูหนัง และการท่องเที่ยวไปในสถานที่ต่างๆ คุณครูจะบอกว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร แล้วก็เล่าเรื่องราวเหล่านั้นสลับกับการสอนเนื้อหาวิชา ซึ่งก็เป็นเรื่องคำศัพท์และการเขียนภาษาอังกฤษ ทำให้พวกเรา “ซึมซับ” คำศัพท์ต่างๆ ไปได้เรื่อยๆ อย่างไม่รู้ตัว คุณครูบอกว่าถ้าดูหนังฝรั่งตามโรงหนังก็ให้ดูที่เป็นซาวน์แทร็กคือเสียงในฟิล์มแล้วมีคำบรรยายภาษาไทย โดยให้ทำปากขมุบขมิบคุยตามตัวแสดงในเรื่องนั้นไปด้วย เพื่อให้เกิดการคุ้นเคยกับการคุยกับฝรั่ง(โดยไม่ต้องเจอฝรั่งจริงๆ ที่คนไทยกลัวมากๆ) คุณครูให้แปลการ์ตูนจากหนังสือพิมพ์ฝรั่งแทบทุกวัน จนพวกเราติดเป็นนิสัยต้องติดตามอ่านมุกเด็ดๆ จากการ์ตูนเหล่านั้นไปทุกๆ วัน คุณครูจะเอาหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งชื่อ Student Weekly มาให้เราหัดทำอักษรไขว้แล้วส่งไปชิงโชค ผมโชคดีที่เคยถูกรางวัลครั้งหนึ่งประมาณ 100 บาท แต่ก็มีคุณค่าทางจิตใจมาก เพราะมันแสดงถึงความสามารถที่เป็นด้วยตัวของเรา นอกจากนี้ในหนังสือพิมพ์เล่มนี้ยังมีสารคดีและเรื่องราวต่างๆ ที่น่าสนใจมากมาย เหมือนกับว่าบรรณาธิการเขาเข้าใจถึงความสนใจของเด็กในวัยนี้ อย่างกับว่าบรรณาธิการคงเป็นวัยรุ่นอีกคนหนึ่งนั่นเลย

การศึกษาทำให้เราได้เห็นโลกกว้าง และมองเห็นถึง “จุดร่วมและจุดต่าง” ของความเป็นมนุษย์


☰กดไลค์หรือแชร์ เรื่องนี้ให้เพื่อนรู้ >>>

เว็บไซต์ห้องพักครูดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
กดติดตาม YouTube ห้องพักครูเพื่อเป็นกำลังใจ
แจกฟรีโปรแกรม ปพ.5 ล่าสุด แจกฟรีโปรแกรมเช็คชื่อ บันทึกความดี

เนื้อหาแนะนำ บทความด้านการศึกษา


คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ ? ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณได้เลย !


วิธีการดาวน์โหลด สือการสอน แผนการสอน

จำหน่ายแผนการสอน ป.1-ม.6 ล่าสุด


หมวดหมู่ : บทความด้านการศึกษา

รวมหนังสือเตรียมสอบ





ข่าว ล่าสุด

GED  |   chulatutor  |   สอบ IELTS  |   สอบ TOEIC  |   IELTS  |   TOEIC  |  

ติดตามเรา Facebook