โพสต์โดย : Admin เมื่อ 21 ก.พ. 2560 01:53:40 น. เข้าชม 166413 ครั้ง
รมว.ศธ.สั่งทปอ.ทำฐานข้อมูลการมีงานทำบัณฑิตประเมินผล/เคลียริงเฮาส์ใหม่เข้มห้ามกั๊กที่นั่ง
"รมว.ศธ." มอบนโยบาย ทปอ.ทำฐานข้อมูลการมีงานทำของบัณฑิต สำรวจความพึงพอใจนายจ้าง หวังใช้พิจารณาปิดหลักสูตรไม่มี
คุณภาพ
เผยนักเรียนวุฒิต่างประเทศ หรือจบ รร.นานาชาติในประเทศ ไม่ต้องเทียบวุฒิที่ ศธ. สมัครเรียนมหา'ลัยได้เลย ด้าน "เลขาฯ ทปอ." แจ้งระบบคัด นศ.ปี 61 ใหม่ เปิด 5 รอบ นศ.มหา'ลัยสมาชิก ทปอ.ห้ามกั๊กที่เรียน 1 คนมี 1 สิทธิ์เท่านั้น คาดคลอดปฏิทิน เม.ย.60
ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวมอบนโยบายแก่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ครั้งที่ 1/2560 ตอนหนึ่งว่า ในที่ประชุม ทปอ. ตนได้ยืนยันว่าจะให้การสนับสนุนการจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษา โดยให้คณะทำงานเตรียมความพร้อมการจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษา ที่มี นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานดำเนินการจัดทำร่างพระราชบัญญัติและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเมื่อมีการจัดทำร่างฉบับดังกล่าวเสร็จแล้ว จะต้องนำเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกา และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จากนั้นรัฐบาลจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป นอกจากนี้ ตนได้ขอให้ทาง ทปอ.รวบรวมข้อมูลการมีงานทำของบัณฑิตแต่ละหลักสูตร ว่ามีงานทำร้อยละเท่าไหร่ ทำงานตรงกับสาขาที่จบหรือไม่ รวมถึงสำรวจความพึงพอใจของนายจ้าง สถานประกอบการที่มีต่อบัณฑิตของแต่ละมหาวิทยาลัย เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาปิดหลักสูตรที่ไม่มีคุณภาพ หรือผลิตคนที่ไม่ตรงกับความต้องการ และสำหรับการรับสมัครนักเรียน นักศึกษารูปแบบใหม่ของ ทปอ.นั้น หากนักเรียนคนใดมีวุฒิการศึกษาจากต่างประเทศ รวมไปถึงผู้ที่จบหลักสูตรนานาชาติในประเทศไทย ไม่ต้องมาเทียบวุฒิที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สามารถสมัครเข้าเรียนตามเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนดได้เลย
ด้านนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า ที่ประชุม ทปอ.ได้พิจารณาร่วมกันในการปรับกระบวนการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาแบบใหม่ที่จะเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2561 โดยหลักการในการรับสมัครจะยึดตามแนวทางดังนี้ 1.นักเรียนควรอยู่ในห้องเรียนจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 2.นักเรียนแต่ละคนมีเพียง 1 สิทธิ์ ในการตอบรับสาขาวิชาที่เลือกเพื่อความเสมอภาค และ 3.สถาบันอุดมศึกษาสมาชิก ทปอ.ทุกแห่งจะต้องเข้าระบบเคลียริงเฮาส์ เพื่อบริหาร 1 สิทธิ์ของนักเรียน และตัดปัญหาการกั๊กที่เรียนและความไม่เสมอภาค เพราะที่ผ่านมานักเรียนที่มาจากครอบครัวฐานะดีมีสิทธิ์สมัครเรียนได้มากกว่านักเรียนที่มาจากครอบครัวฐานะยากจน
ด้านนายประเสริฐ คันธมานนท์ เลขาธิการ ทปอ. กล่าวว่า การรับสมัครในกระบวนการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาปีใหม่ ซึ่งจะเริ่มในปีการศึกษา 2561 นี้ มีทั้งหมด 5 รอบ คือ รอบที่ 1 การรับด้วยแฟ้มสะสมผลงานโดยไม่มีการสอบข้อเขียน สำหรับนักเรียนทั่วไป นักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ นักเรียนโควตา นักเรียนเครือข่ายให้นักเรียนยื่นสมัครโดยตรงกับทางสถาบันอุดมศึกษา โดยคาดว่าจะเริ่มช่วงเดือนตุลาคม 2560 รอบที่ 2 การรับแบบโควตาที่มีการสอบข้อเขียนหรือสอบปฏิบัติ สำหรับนักเรียนที่อยู่ในเขตพื้นที่หรือภาคโควตาโรงเรียนในเครือข่าย และโครงการความสามารถพิเศษต่างๆ ซึ่งมหาวิทยาลัยจะเป็นผู้ประกาศเกณฑ์การสอบ ให้นักเรียนยื่นสมัครโดยตรง และเข้ารับการคัดเลือกตามเกณฑ์การสอบ รอบที่ 3 การรับสมัครตรงร่วมกัน สำหรับนักเรียนในโครงการ, กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.), โครงการอื่นๆ และนักเรียนทั่วไป โดย ทปอ.จะเป็นหน่วยกลางในการรับสมัคร และสถาบันอุดมศึกษาจัดให้มีการสอบกลาง ซึ่งเป็นจัดโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) คือ การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต การทดสอบความถนัดทั่วไป (GAT) และความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ (PAT) และการทดสอบวิชาสามัญ 9 วิชา นอกจากนี้ในช่วงเวลาเดียวกัน แต่ละมหาวิทยาลัยสามารถกำหนดเกณฑ์ที่เป็นอิสระของตนเองได้ และประกาศให้นักเรียนรับทราบ ซึ่งหากมีการจัดสอบต้องเป็นวิชาที่ไม่มีการจัดสอบในข้อสอบกลาง โดยในรอบที่ 3 นี้ นักเรียนเลือกได้ 4 สาขาวิชา โดยไม่มีลำดับ และรอบที่ 4 การรับแบบ Admissions สำหรับนักเรียนทั่วไป โดย ทปอ.เป็นหน่วยกลางในการรับสมัคร สามารถเลือกได้ 4 สาขาวิชา แบบมีลำดับ โดยใช้เกณฑ์ค่าน้ำหนักตามที่ประกาศไว้ล่วงหน้า 3 ปี และสุดท้ายรอบที่ 5 การรับตรงอิสระ สถาบันอุดมศึกษารับโดยตรงด้วยวิธีการของสถาบันเอง
"การรับสมัครแบบใหม่นี้ นักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกและต้องการเข้าศึกษา ต้องทำการยืนยันสิทธิ์เข้าศึกษาเพียง 1 ที่ ซึ่งหากอยากมีสิทธิ์เข้าร่วมในรอบถัดไปจะต้องสละสิทธิ์เดิมในสถาบันอุดมศึกษาที่ตนเองสอบได้ก่อน เพื่อเป็นคืนสิทธิ์ และถ้าไปสมัครที่ใหม่โดยไม่มีการสละสิทธิ์ การสมัครครั้งถัดไปจะถือเป็นโมฆะทันที ซึ่งรายละเอียดต่างๆ จะมีการเขียนไว้ในระเบียบการรับสมัครอย่างชัดเจน ดังนั้น จะไม่มีการลักไก่ หรือสมัครสอบและมีที่นั่งในหลายมหาวิทยาลัย กันสิทธิ์ผู้อื่นอย่างที่ผ่านมา ทั้งนี้ การใช้สัดส่วนคะแนนเฉลี่ยตลอดหลักสูตรจบมัธยมศึกษาตอนปลาย (GPAX) โอเน็ต และGAT/PAT จะยังเป็นไปตามประกาศล่วงหน้า 3 ปี คือในปีการศึกษา 2560-2562" เลขาฯ ทปอ.กล่าว และว่า ในส่วนของมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) นั้น ยืนยันจะเข้าร่วมระบบใหม่ดังกล่าวใน 3 รอบแรก และรอบที่ 5 เนื่องจากติดเรื่องช่วงเวลาของการเปิดภาคเรียน ซึ่งการรับจะใช้ข้อสอบกลางและมีการเปิดสอบโดยกลุ่ม มรภ.และ มทร.เป็นผู้จัดสอบเอง เพื่อให้ได้นักศึกษาตรงกับความต้องการของแต่ละกลุ่มมหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตาม ทาง ทปอ.จะมีการพิจารณาในเรื่องกรอบระยะเวลาในการจัดสอบอีกครั้ง รวมถึงรายละเอียดการจัดสอบ การรับนักศึกษาโดยมีเงื่อนไข ตามที่มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งกำหนด โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จและประกาศให้รับทราบภายในเดือนเมษายน 2560 นี้.
ขอบคุณ เว็บไซต์ครูบ้านนอกดอทคอม ขอบคุณที่มาจาก ไทยโพสต์ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560