โพสต์โดย : Admin เมื่อ 6 ม.ค. 2560 06:14:45 น. เข้าชม 166458 ครั้ง
หลายปีที่ผ่านมาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 หรือห้องเรียนศตวรรษที่ 21 เป็นแนวคิดที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการศึกษาให้เกิดศักยภาพ ซึ่งฟันเฟืองสำคัญในการผลักดันแนวคิดดังกล่าวให้สามารถนำไปใช้ได้จริงต้องอาศัยความร่วมมือจากองค์กรด้านการศึกษาโดยเฉพาะผู้บริหารสถานศึกษา
บริษัทอักษรเอ็ดดูเคชั่นจํากัด (มหาชน) ตระหนักถึงความสําคัญนี้ จึงร่วมมือกับคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโครงการสัมมนาผู้นําทางการศึกษาแห่งประเทศไทย (TELS) โดยดึง "เคน เคย์" ผู้คิดค้นแนวคิดการศึกษาแห่งศตวรรษที่ 21 มาแชร์ประสบการณ์ภายใต้แนวคิด "เรียนรู้จากนักคิดแห่งศตวรรษที่ 21 สู่การปฏิบัติในบริบทของประเทศไทย"
"เคน เคย์" ฉายภาพเบื้องต้นให้ฟังว่า ครูส่วนใหญ่ตระหนักถึงทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ว่า มีความสำคัญต่อการสร้างนักเรียนและพลเมืองโลก แต่ยังเผชิญกับอุปสรรคในการสร้างห้องเรียนแห่งศตวรรษที่ 21 เพราะครูส่วนใหญ่เติบโตและถูกสอนมาในระบบการศึกษาแห่งศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นยุคอุตสาหกรรมที่เน้นสร้างบุคลากรให้เป็นแรงงานทำงานซ้ำซาก ทำให้ครูมองภาพการสอนโดยใช้แนวคิดทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ไม่ชัดเจน
ทั้งที่โลกยุคใหม่ใน ค.ศ. 2020 คาดหวังพลเมืองที่มีคุณสมบัติ และความสามารถในการแก้ปัญหา, มีทักษะการคิดเชิงวิพากษ์, ความคิดสร้างสรรค์, ทักษะในการบริหารผู้คน และทักษะการสื่อสาร-ประสานงานร่วมกัน โดยองค์กรที่สามารถผสมผสานทักษะนี้เป็นอย่างดี และสามารถสร้างบุคลากรเพื่อรองรับเศรษฐกิจยุคใหม่ คือ บริษัทระดับโลกอย่าง Google
"ครูควรดึงศักยภาพของนักเรียนออกมาให้มากที่สุด โดยพัฒนาการของเด็กจะเกิดขึ้นได้เมื่อครูมีความร่วมมือ และสื่อสารกับนักเรียน โดยทำหน้าที่เป็นเพียงไกด์ไลน์ให้กับเด็ก ซึ่งบ่อยครั้งของการมองข้ามความร่วมมือ และความใส่ใจที่เริ่มมาตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษา เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การสอนนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายมีความยากขึ้น"
"เคน เคย์" แนะแนวคุณสมบัติครูสำหรับศตวรรษใหม่ พร้อมบอกอีกว่ากุญแจสำคัญที่ผลักดันทักษะการศึกษาศตวรรษที่ 21 ให้เกิดขึ้นในเชิงปฏิบัติมี 2 ประการ ได้แก่ 1) โรงเรียนหรือกลุ่มสถานศึกษาต้องระบุขีดความสามารถต่าง ๆ ที่คนรุ่นใหม่ต้องบรรลุผลสำเร็จได้เมื่อจบการศึกษา 2) แนวทางการสอนต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อค้นหาวิธีการสอนใหม่ ๆ ที่จะช่วยให้ผู้เรียนมีความสามารถตามทักษะในศตวรรษที่ 21
"ครูควรมีคุณสมบัติที่สามารถทำงานร่วมกันได้ และควรสร้าง Project Learning ร่วมกัน โดยให้ครูทุกคนช่วยกันระดมไอเดียออกแบบการเรียนการสอนที่เหมาะกับบริบททางสังคม และวัฒนธรรมของแต่ละโรงเรียน เพื่อตอบโจทย์นักเรียนที่มีความแตกต่างกัน"
ขณะที่ "ดร.เดวิด เคล็ท" กรรมการผู้จัดการ บริษัทในเครือเคล็ท กรุ๊ป จากเยอรมนี หนึ่งในบริษัทด้านการศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป มองว่าเป็นเรื่องน่ากลัวว่าอนาคตเทคโนโลยีกำลังมาทดแทนแรงงานซ้ำซากของมนุษย์ ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องเปลี่ยนแปลง ซึ่งไม่สำคัญเลยว่าโรงเรียนจะมีทุนหรือไม่มีทุน จะเป็นโรงเรียนที่อยู่ในเมืองหรือชนบท เพราะทุกโรงเรียนสามารถสร้างห้องเรียนแห่งศตวรรษที่ 21 ให้เกิดขึ้นได้ หากมีความศรัทธาในคุณสมบัติหนึ่งที่มีอยู่ในตัวของเด็กทุกคน นั่นคือความอยากรู้อยากเห็น
"เพราะการศึกษาทั้งหมดเป็นเรื่องของความอยากรู้อยากเห็น บทบาทของครูคือให้พื้นที่กับความอยากรู้อยากเห็นในตัวนักเรียนให้มากที่สุด ไม่ใช่มากดดันหรือปิดกั้น เพราะความอยากรู้อยากเห็นจำเป็นต่อการเตรียมพร้อมให้นักเรียนอยากเรียนรู้ ซึ่งหากครูสามารถกระตุ้นสิ่งนี้ได้ ทุกอย่างจะง่ายขึ้นต่อการสอน"
สำหรับผู้จัดงาน TELS "ตะวัน เทวอักษร" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อักษร เอ็ดดูเคชั่น เชื่อว่าการสร้างประเทศให้เข้มแข็ง และมีความสามารถแข่งขันในระดับโลกได้นั้น การศึกษาต้องมีความแข็งแกร่งก่อน เพราะการศึกษาคือพื้นฐานในการสร้างอนาคตชาติ ซึ่งเป็นเรื่องปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกยุคใหม่มีการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด
"TELS จัดต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 แล้ว โดยมีเป้าหมายหลักในการสร้างแรงบันดาลใจผู้บริหารสถานศึกษาสู่การปฏิรูปเชิงนโยบาย เพื่อสร้างห้องเรียนศตวรรษที่ 21 ในบริบทประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมา การสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในระบบการศึกษาต้องเริ่มจากผู้อำนวยการโรงเรียนก่อน ดังนั้นเราจึงมุ่งจุดประกายกลุ่มผู้นำทางการศึกษา เพื่อก่อให้เกิดการปฏิรูปในเชิงนโยบาย"
"เพราะหากมองภาพใหญ่ของการจัดการระบบการศึกษาของไทยให้ยั่งยืนนั้นจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง5สเต็ปประกอบด้วย 1.Vision (วิสัยทัศน์) 2.Inspiration (แรงบันดาลใจ) 3.Empower (ให้อำนาจ) 4.Investment (บริหารทรัพยากร) และ 5.Trust (ศรัทธาในครู) ซึ่งหน้าที่ของเราคือการทำให้วิสัยทัศน์นั้นกระจ่างชัดเจนก่อน แล้วขยายผลไปยังขั้นตอนต่อไป"
ทั้งนั้น อักษร เอ็ดดูเคชั่น คาดหวังว่าการสัมมนานี้จะก่อให้เกิดการสร้างเครือข่าย Professional Learning Community (PLC) ให้กลุ่มผู้บริหารการศึกษาหรือครู มีเวทีแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็น เพื่อนำไปสู่อีกระดับขั้นของการสร้างระบบการจัดการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการที่ใช้ได้จริง
ขอบคุณที่มาจาก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 6 ม.ค. 2560
ขอบคุณ เว็บไซต์ครูบ้านนอกดอทคอม