โพสต์โดย : Admin เมื่อ 30 ก.ค. 2564 02:18:25 น. เข้าชม 166393 ครั้ง
ดร.ดิศกุล เกษมสวัสดิ์ เลขาธิการคุรุสภา เปิดเผยกรณีที่ประชุมคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) มีมติว่าการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู ต้องสอบวิชาเอก และจะนำเรื่องนี้เสนอให้คณะกรรมการคุรุสภา ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน พิจารณาทบทวนมติยกเลิกการสอบวิชาเอก ว่า กมว.สามารถเสนอความเห็นให้คณะกรรมการคุรุสภาพิจารณาได้ แต่ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการคุรุสภา ว่าจะพิจารณาเรื่องนี้อย่างไร ทางคุรุสภาพร้อมปฏิบัติตาม แต่กังวลว่าหากเห็นชอบให้สอบวิชาเอกอีกครั้ง อาจสร้างความสับสนให้กับประชาชนได้ และกลุ่มที่ทดสอบ ครั้งที่ 1/2564 ที่ได้รับการยกเว้น ไม่นำผลการทดสอบด้านความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ ตามมาตรฐานวิชาชีพครูในวิชาเอกมาใช้เป็นเงื่อนไขในการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู อาจรวมตัวฟ้องคุรุสภาได้ เพราะถือเป็นการกระทบสิทธิของผู้เข้าสอบ
ดร.ดิศกุลกล่าวต่อว่า แม้ว่าการทดสอบจะไม่ได้สอบวิชาเอกก็ตาม ทางคุรุสภาได้วางแผนที่จะรื้อระบบ และปรับเกณฑ์การออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูใหม่ให้ทันสมัย สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมในปัจจุบัน เบื้องต้นอาจมีใบอนุญาตฯที่เป็นพื้นฐาน ไม่รวมวิชาเอก พร้อมจะออกแนวทางใหม่ว่าถ้าครูต้องการใบรับรองการสอนวิชาเอกด้วย ต้องดำเนินการตามแนวทางที่คุรุสภาวางไว้ เพื่อขอรับใบอนุญาตฯที่เป็นวิชาเอก เพื่อแสดงความเชี่ยวชาญของครูอย่างแท้จริง
“ต่อไปครูอาจมีใบอนุญาตฯ 2 ใบ คือใบอนุญาตฯพื้นฐาน และใบอนุญาตฯที่เป็นวิชาเฉพาะ เพื่อให้สถานศึกษาเลือกใช้ครูตามความถนัด และความเหมาะสม โดยคุรุสภาได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น 1 ชุด เพื่อศึกษารายละเอียดข้อกฎหมาย ปรับปรุงหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาตฯใหม่ และเสนอให้คณะกรรมการคุรุสภาพิจารณาเพื่อออกเป็นประกาศ ซึ่งต้องใช้เวลา เพราะเป็นการรื้อระบบใหม่ทั้งหมด” ดร.ดิศกุลกล่าว
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา กล่าวว่า มองว่าการยกเลิกสอบวิชาเอก มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง แม้คุรุสภาปฏิเสธก็ตาม ปัญหาคุณภาพของครูเริ่มตั้งแต่ยุคเบบี้บูม ที่เด็กเกิดจำนวนมาก ประเทศต้องการครูเพื่อให้สอดคล้องกับอัตราเด็กที่เกิดมา จึงเปิดเรียนครูในภาคค่ำ โดยไม่มีการฝึกปฏิบัติการสอน ซึ่งมีคนจากทุกสาขาอาชีพเข้ามาเรียน และเมื่อสอบบรรจุก็ผ่านอย่างง่ายดาย มองว่าที่ผ่านมาประเทศได้บรรจุครูที่ด้อยคุณภาพ หรือไม่มีหลักประกันในวิชาชีพจำนวนมาก
“ปัจจุบันครูเหล่านี้อยู่ในวงการศึกษามากกว่า 35-40 ปี ดังนั้น การบรรจุครูโดยไม่ดูเรื่องคุณสมบัติ ไม่ดูวิชาเอก ไม่ดูการฝึกสอน ไม่ดูความตั้งใจที่จะมาเป็นครูอย่างแท้จริง ได้ส่งผลกระทบมาถึงปัจจุบัน และระบบการศึกษาไทยที่บรรจุผู้เรียนครูภาคค่ำมาเป็นครู เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การศึกษาของประเทศไม่ดีขึ้น” ศ.ดร.สมพงษ์กล่าว
ศ.ดร.สมพษ์กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ มองว่ายังจำเป็นต้องสอบวิชาเอกในการทดสอบ เพราะเป็นการกลั่นกรองอีกชั้นหนึ่ง ที่จะทำให้คนที่มีใบอนุญาตฯเป็นคนที่มีความรู้ ความสามารถ และทรรศนะคติที่ดีมาเป็นครู ที่สำคัญผู้ที่เข้ารับการทดสอบครั้งที่ 1/2564 เป็นผู้ที่จบการศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู หรือ ป.บัณฑิต เท่านั้น ขณะที่กลุ่มผู้เรียนครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ หลักสูตร 4 ปี หรือ 5 ปี ที่เข้าเรียนตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 ยังไม่เคยเข้ารับการทดสอบเลย จะเข้ารับการทดสอบครั้งแรกในปี 2565 โดยกลุ่มนี้มีจำนวนมากที่จะมาเป็นครูในอนาคต ดังนั้น หากยกเว้นการสอบวิชาเอก เพราะคนกลุ่มหนึ่งมีปัญหา และร้องเรียน หากคุรุสภาทำเช่นนี้ ถือเป็นการทำลายวิชาชีพครูอีกทางหนึ่ง
“ผมมองว่าองค์กรวิชาชีพครู ควรปรับตัวบนพื้นฐานของสิ่งที่ควรจะเป็น ให้สอดคล้องกับปัจจุบัน เพราะคนที่จะมาเป็นครูต้องมีองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ มีองค์กรวิชาชีพครูที่ดูแลครูทั้งหมด มีใบอนุญาตฯ และมีความรู้ที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพครู ไม่ว่าจะเป็นจิตวิทยาการเรียนรู้ วิชาเอก ผมมองว่าขณะนี้คุรุสภากำลังสั่นคลอนวิชาชีพของตนเอง คนในองค์กรต้องยึดมั่น และคัดกรองผู้ที่มาเป็นครูตามมาตรฐาน ตามจรรยาบรรณที่มี ไม่ใช่เอนเอียงไปตามกระแส หรือตามคำเรียกร้องของกลุ่มคน” ศ.ดร.สมพงษ์กล่าว