โพสต์โดย : Admin เมื่อ 17 มิ.ย. 2564 06:24:39 น. เข้าชม 166400 ครั้ง
เป็นเรื่องอีกแล้ว! สำหรับประเด็นข้าราชการข้ามเพศ ที่มีเพศสภาพไม่ตรงกับคำนำหน้า
เรื่องราวนี้ถูกถ่ายทอดผ่านผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Nada Chaiyajit หรือ คุณนาดา ที่ได้โพสต์เรียกร้องสิทธิ์ของความเป็นข้าราชการหญิงข้ามเพศ ของ ครูกอล์ฟ ซึ่งเป็นคุณครูสอนภาษาต่างประเทศที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง กับเส้นทางการเป็นครูมานานกว่า 13 ปี
เท้าความกลับไป ระหว่างรับราชการครู ครูกอล์ฟ ยังคงแต่งกายด้วยชุดข้าราชการชาย ใส่วิกผมสั้นทรงผู้ชาย ตามคำนำหน้านาม ซึ่งตอนนั้นไม่มีปัญหาเรื่องบัตรข้าราชการ กระทั่งเวลาผ่านไป ครูกอล์ฟ ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงตัวเองตามหัวใจ กลายเป็นคุณครูหญิงข้ามเพศ ที่มีเพศสภาพไม่ตรงกับคำนำหน้านาม แต่การใช้ชีวิตในสังคมทุกคนต่างก็ให้เกียรติและเคารพ ครูกอล์ฟ ในฐานะผู้หญิงคนหนึ่งที่เป็นแม่พิมพ์ของชาติ จากนั้นเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว บัตรข้าราชการครูของ ครูกอล์ฟ หมดอายุและจำเป็นต้องทำบัตรใหม่ ครูกอล์ฟ ดำเนินการส่งเอกสารจากทางโรงเรียนพร้อมรูปถ่ายในปัจจุบัน และเอกสารยืนยันการผ่าตัดจากชายเป็นหญิง ยื่นขอทำบัตรข้าราชการใหม่ โดยที่ไม่คาดคิดเลยว่านั่นจะกลายเป็นปัญหา... แต่สำนักงานเขตพื้นที่มัธยมศึกษา เขต 2 กลับร้องขอให้ครูกอล์ฟ เปลี่ยนรูปถ่ายให้ตรงกับคำนำหน้า โดยให้เหตุผลว่า ครูกอล์ฟ แต่งกายไม่ตรงกับเพศสภาพโดยกำเนิด ทำให้จนถึงทุกวันนี้ ครูกอล์ฟยังไม่ได้บัตรข้าราชการ นั่นทำให้เกิดคำถามว่า เหตุใดครูกอล์ฟถึงมีปัญหาในการทำบัตรข้าราชการ ทั้งๆที่มีครูข้ามเพศท่านอื่นๆ ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเขตอื่นก็ทำบัตรข้าราชการได้ไม่มีปัญหาอะไรเรื่องเพศสภาพและคำนำหน้า
คุณนาดา
โดยคุณนาดา เล่าว่า ในช่วงเดือนพฤษภาคมเมื่อ 2 ปีก่อน ในขณะที่สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย (Rainbow Sky Association of Thailand) นำโดยนายกสมาคมฯ คุณแดนนี่ Kittinun Daramadhaj ร่วมกับนาดา ที่กำลังทุ่มสรรพกำลังผลักดันโครงการรณรงค์ผ่านพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 อย่างเข้มข้น ได้ก่อให้เกิดจุดเริ่มต้นการต่อสู้ของ ครูกอล์ฟ นั่นหมายถึงสถานการณ์ที่เธอกำลังเผชิญหน้าอยู่ในขณะนั้นเธอต้อง ใส่วิกผม แต่งเครื่องแบบข้าราชการตามเพศกำเนิด แม้จะผ่านกระบวนการผ่าตัดเพื่อยืนยันเพศสภาพของตน ไปทำงานตลอดระยะสิบกว่าปีที่ผ่านมา นาดานึกไม่ออกเลยว่าความขมขื่นที่ครูกอล์ฟต้องแบกรับในทุก ๆ วัน เมื่อมองรูปภาพที่เธอส่งมาเพื่อยืนยันในสิ่งที่เกิดขึ้น
ครูกอล์ฟ ปรึกษานาดาว่าต้องทำอย่างไรต่อไป เพื่อจะได้รับสิทธิอันชอบธรรมนี้ ควรทำคำร้องต่อคณะกรรมการ วลพ. ก่อน หรือ แต่งกายตามเพศสภาพไปสอนหนังสือที่โรงเรียนเลย แน่นอนคำตอบของนาดาที่มีต่อคำถามนี้อย่างไม่ลังเลคือ “เราต้องยืนยันสิทธิ เพราะถ้าไม่สู้ก็อยู่อย่างผู้ถูกกดขี่ และเราตกอยู่ในสถานะนี้มานานเกินไปแล้ว ไม่มีใครช่วยเราได้ถ้าเราไม่ลุกขึ้นมายืนยันสิทธิในอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเอง” และในวันที่ 16 พฤษภาคม 2562 ก่อนวัน IDAHOBIT เพียงหนึ่งวัน ครูกอล์ฟตัดสินใจลุกขึ้นมายืนยันสิทธิในการอัตลักษณ์และการแสดงออกทางเพศของเธออย่างเต็มภาคภูมิ แน่นอนว่าย่อมเกิดปัญหาตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าประเทศไทยจะบังคับใช้กฎหมายห้ามเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศแล้วก็ตาม แต่เพราะยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพของบุคคลเป็นการเฉพาะ ด้วยข้อกฎหมายว่าด้วยข้าราชการพลเรือน และกฎระเบียบอีกร้อยแปดพันเก้าที่ยังคงไม่ได้รับการแก้ไขส่งผลให้ครูกอล์ฟ ไม่สามารถออกบัตรข้าราชการใบใหม่ได้ และเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับทั้งหน่วยงานต้นสังกัดของเธอ คือ กระทรวงการศึกษาธิการ และ คุรุสภา
คุณนาดา เล่าต่อว่า ครูกอล์ฟได้ยื่นเรื่องคำขอบัตรข้าราชการ เนื่องจากขึ้นตำแหน่งเป็นครูชำนาญการ ซึ่งทางโรงเรียนต้นสังกัดได้ดำเนินการออกหนังสือรับรองและนำส่งไปที่กลุ่มบริหารงานบุคคล สำนักงานเขตพื้นที่มัธยมศึกษาเขต 2 เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2563 พร้อมกันนี้ได้แนบบัตรประจำตัวใบเก่าพร้อมกับรูปถ่ายที่ถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือนก่อนวันยื่นคำขอ โดยเป็นรูปถ่ายที่ครูกอล์ฟแต่งเครื่องแบบปกติขาวหญิงเพื่อให้สอดคล้องตามเพศสภาพปัจจุบัน จำนวน 2 ใบเป็นหลักฐานประกอบว่าเธอได้เข้ารับการผ่าตัดยืนยันอัตลักษณ์ทางเพศสภาพจากชายเป็นหญิงเป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2560 ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 เธอได้รับการร้องขอจากเจ้าหน้าที่กลุ่มบริหารงานบุคคล สำนักงานเขตพื้นที่มัธยมศึกษาเขต 2 ให้เธอทำการเปลี่ยนรูปถ่ายใหม่ เนื่องจากรูปที่เธอได้ยื่นคำขอไปเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมานั้น เป็นรูปถ่ายที่ขัดต่อระเบียบการแต่งกายตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติเครื่องแบบข้าราชการฝ่ายพลเรือน พุทธศักราช 2548 ด้วยเหตุผลที่ว่า คำนำหน้านามตามเพศกำเนิดเป็น “นาย” จึงต้องแต่งกายให้สอดคล้องกับคำนำหน้านาม และทางเจ้าหน้าที่กลุ่มบริหารงานบุคคลได้อ้างถึงหนังสือราชการที่ออกโดยสำนักนายกรัฐมนตรี โดยนิติกรที่ไม่รู้จักตีความพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศในครอบคลุมกฎระเบียบที่ล้าหลัง จะว่าไป...ไม่มีข้อกฎหมายใดเขียนว่า ห้ามมิให้มีการแต่งกายข้ามเพศ กฎหมายบอกแต่เพียงว่าหากเป็นชายให้แต่งเครื่องแบบอย่างไร หากเป็นหญิงให้แต่เครื่องแบบอย่างไร
แม้ว่าครูกอล์ฟจะได้รับการช่วยเหลือ โรงเรียนต้นสังกัดของเธอช่วยส่งหนังสือชี้แจงพร้อมด้วยใบรับรองแพทย์ที่แสดงให้เห็นว่าข้าพเจ้าเป็นหญิงข้ามเพศทั้งเจตจำนง การแสดงออกทางเพศสภาพ และเพศสรีระโดยบริบูรณ์แล้ว และในวันที่ 19 มิถุนายน 2564 ที่จะถึงนี้ จะครบ 2 ปีพอดิบพอดีที่เธอไม่มีบัตรประจำตัวข้าราชการให้ถือครองไว้ ส่งผลให้เธอได้รับการกระทบเทือนสิทธิอันพึงมีพึงได้โดยชอบธรรมจากการที่เธอเป็นข้าราชการครู อันเนื่องมาจากไม่มีเอกสารที่แสดงถึงการรับรองคุณวุฒิและวิชาชีพติดตัวซึ่งเป็นเอกสารที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อบุคคลผู้ประกอบวิชาชีพครู และในฐานะบุคคลผู้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ การไม่มีบัตรประจำตัวข้าราชการ ส่งผลอย่างไรต่อเธอบ้าง...สิ่งที่กระทบต่อจิตวิญญาณของความเป็นครู สด ๆ ร้อน ๆ คือเมื่อเธอไม่สามารถหยิบยื่นความเชื่อเหลือให้กับลูกศิษย์เพื่อเข้าถึงสิทธิในการกู้ยืมเพื่อการศึกษาได้ เพราะเธอไม่มีบัตรประจำตัวข้าราชการเพื่อสำเนารับรองให้แก่ลูกศิษย์คนดังกล่าว
คุณนาดา ยังบอกอีกว่า วิธีปฏิบัติแบบราชการไทย ที่กฎหมาย นโยบายรัฐ มันควรต้องตีความให้เข้าใจได้โดยง่ายและต้องเป็นการตีความที่บุคคลกรทุกฝ่ายสามารถเข้าใจได้อย่างตรงกันโดยไม่ต้องแปลความอีก และเป็นความเข้าใจที่เสมอภาคและปฏิบัติอย่างทั่วถึงกลับไม่ส่งผลในทางปฏิบัติ หากเดือนแห่งความภาคภูมิใจมันมีความหมาย
ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อสิ่งที่ครูกอล์ฟต้องแบกรับมาตลอดระยะเวลา 2 ปีที่เธอเป็นเสมือนข้าราชการเถื่อนอันเนื่องจากเหตุที่นาดาได้สาธยายไปหมดแล้วข้างต้น กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) คุรุสภา
สุดท้ายนี้ ให้ภาพมันเล่าเรื่อง ความสุขจากการได้เป็นตัวของตัวเองมันส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนข้ามเพศเช่นครูกอล์ฟอย่างไร และภายใต้ความบีบคั้น กีดกันการแสดงออกตามเพศสภาพของเธอ ครูกอล์ฟยังคงมุมานะสร้างผลงานพิสูจน์ได้จาก ครูดีใจดวงใจ ภาพลูกศิษย์ลูกหาที่ห้อมล้อมเธอด้วยความรักและชื่นชม หากไม่ติดเรื่องของสิทธิส่วนบุคคลแล้ว นาดาอยากให้ทุกคนได้เห็นว่าใบหน้าที่ยิ้มแย้มเต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขและความรักลูกศิษย์มีต่อครูกอล์ฟมันได้ตอบแทนพวกเราหมดทุกคนแล้วว่า ข้าราชการครูข้ามเพศคือแม่พิมพ์ของชาติได้อย่างสง่างาม
ซึ่งล่าสุด เรื่องราวของครูกอล์ฟ นำมาสู่แคมเปญ ล่ารายชื่อ 1,000 รายชื่อ ในหัวข้อที่ว่า ขอเรียกร้องให้ข้าราชการข้ามเพศทำบัตรประจำตัว และแต่งกายตามเพศสภาพได้ ซึ่งเมื่อเวลา 15.53 น. มีผู้ร่วมลงชื่อในแคมเปญดังกล่าวแล้ว 975 คน
แล้วคุณล่ะคะ อ่านมาจนจบตรงนี้ คิดเห็นอย่างไรกับเรื่องราวของครูกอล์ฟบ้าง? จันเองก็ต้องขอบอกว่า ขอเป็นกำลังใจให้ครูกอล์ฟ รวมทั้งข้าราชการข้ามเพศทุกท่านด้วยค่ะ #อีจันสีรุ้ง