เอายังไงดี ลาออกดีไหมเมื่อครูไม่พร้อม
จากการเรียนการสอนปกติสู่ออนไลน์ จากออนไลน์สู่ติวเตอร์ กระทรวงศึกษาธิการ สนับสนุนครูอย่างไร ในช่วงของการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาครูต่อสู่กับโควิดอย่างเดียวดาย ไร้การตอบแทน ไร้การดูแล มีแต่คำสั่ง ไม่มีวิธีการ กับระยะเวลา
จากผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสู่ยุคของติวเตอร์สอนครู ในช่วงเวลาการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 เต็มปี ย่างเข้าสู่ปีที่ 2 ในปีการศึกษา 2564 แนวทางและวิธีการปฏิบัติในการแก้ไขปัญหายังคงวนเวียนอยู่เหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็นการจัดการเรียนการสอน การจัดสรรงบประมาณ และวิธีการปฏิบัติ ยังคงเน้นคำว่า “ให้เป็นไปตามดุลพินิจของผู้อำนวยการโรงเรียน” ซึ่งขอย้ำว่าไม่เคยใช้ดุลพินิจ
เริ่มจากปีการศึกษา 2563 มีการทดลองจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์อย่างยิ่งใหญ่ มีการประกาศว่า จะจัดหาอุปกรณ์และสนับสนุนสิ่งต่างๆ มากมาย สุดท้ายผ่านไป 1 ปี ไม่มีอะไรตกถึงโรงเรียน ขอคำตอบกับคำถามง่ายๆ ว่า มีผู้ปกครองหรือโรงเรียนไหนได้รับกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลหรือทีวี บ้างหรือไม่ มีแต่ครูที่หอบใบงานฝ่าโควิดไปแจกถึงบ้าน จนนำมาซึ่งคำว่า “ครูไม่มีปอด” เรียนบ้างๆ หยุดบ้างก็ผ่านกันไป 1 ปี
เข้าสู่ช่วงปลายปีการศึกษา มีการยกเลิกการนำเอาผลการประเมินระดับชาติ O net มาใช้ในการประเมินผลการเรียนและการประเมินความผลการปฏิบัติงานของครู โดยบอกว่าการสอบ O net เป็นสิทธิ์ส่วนบุคคลนักเรียนจะสอบหรือไม่ก็ได้ ท่านเคยย้อนกลับไปติดตามคำสั่งของท่านหรือไม่ว่ามีนักเรียนกี่คนที่ไม่สอบ O net ถ้าเดาไม่ผิดปีที่ผ่านมานักเรียนน่าจะเข้าสอบ 100 % แถมหลังการประกาศผลสอบโรงเรียนต่างๆ ก็ยังคงนำผลคะแนนและรูปนักเรียนมาติดเต็มหน้าโรงเรียนเหมือนเดิม
เหตุการณ์เปลี่ยนไปอย่างไม่คาดคิด ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการท่านใหม่ หลังรับตำแหน่งท่านก็กักตัว มาเริ่มทำงานในช่วงที่จะเปิดภาคเรียน ด้วยความเป็นห่วงว่า ข้าราชการครูจะไม่พร้อม ท่านนำเอาบรรดาติวเตอร์เก่งๆ ทั่วฟ้าเมืองไทย มาจัดกิจกรรมติวให้กับคุณครูก่อนเปิดภาคเรียน และประกาศอย่างเข็มแข็ง เสียงดังๆ ว่า “ครูพร้อม” ท่านบอกในตอนต้นว่าให้แต่ละโรงเรียนจัดกิจกรรมตามความพร้อมและบริบทของแต่ละพื้นที่ ไม่ต้องรายงาน ไม่ต้องบันทึก แต่ท่านหารู้ไม่ว่า เมื่อถึงระดับปฏิบัติมาเต็มครับ ทั้งรูปถ่าย เอกสาร รูปเล่มรายงาน เผลอๆ ผู้บริหารโรงเรียนกำชับให้อบรมให้ครบทุกหลักสูตรด้วยซ้ำ
เอาเป็นว่า ความพร้อมของ รัฐมนตรี ความพร้อมของปลัดกระทรวง ความพร้อมของเลขา สพฐ. ความพร้อมของ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ความพร้อมของผู้อำนวยการโรงเรียน ความพร้อมของครูผู้สอน และความพร้อมของนักเรียนกับผู้ปกครอง ไม่เหมือนกัน ส่วนหนึ่งในวันนี้ครูส่วนใหญ่อยากตะโกนดังๆ ว่า “ครูไม่พร้อม” โดยเฉพาะครูที่สูงอายุ มีโรคประจำตัว ครูที่ต้องเดินทางไกล และอีกหลายปัจจัยที่ยังไม่พร้อม อย่าให้ถึงเวลาที่ครูเหล่านั้น ท้อแท้ หมดกำลังใจ ท่านอาจจะเห็นช่วงเวลาที่ครูหลายๆ คน ตัดสินใจลาออกจากราชการเพื่อรักษาชีวิตก็เป็นได้