โพสต์โดย : Admin เมื่อ 25 มี.ค. 2564 11:24:37 น. เข้าชม 166458 ครั้ง
ในบทความนี้ เราจะมากล่าวถึงเรื่องสำคัญ ที่เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้ คือเรื่องของการประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียน ซึ่งตามปกตินั้น ถ้าเป็นการเรียนรู้ในห้องเรียนโดยทั่วไป ครูผู้สอนอาจไม่มีปัญหาอะไรนักกับการประเมินผล เพราะเป็นสิ่งที่ดำเนินการมาโดยตลอดอยู่แล้ว แต่เนื่องจากปัญหาการระบาดของโรค Covid-19 ทำให้โรงเรียนและสถาบันการศึกษาต้องใช้รูปแบบของการเรียนออนไลน์เป็นตัวช่วยในการจัดการศึกษาแทนการเรียนในห้องเรียนตามปกติ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้รูปแบบของการประเมินผลผู้เรียนนั้นจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนและเลือกใช้ให้เหมาะสมกับการเรียนแบบออนไลน์ เพื่อช่วยให้ครูผู้สอนสามารถประเมินผลนักเรียนและทราบถึงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนได้อย่างแท้จริง
การประเมินผลนั้น เป็นกระบวนการในการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่นักเรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์การศึกษาของพวกเขา โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ การประเมินความก้าวหน้า (Formative assessment) ซึ่งเป็นการประเมินความก้าวหน้าระหว่างเรียนของนักเรียน แล้วนำผลที่ได้ไปปรับปรุงรูปแบบการสอนของครูผู้สอน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความสำเร็จในการเรียนรู้มากขึ้น กับ การประเมินรวบยอด (Summative assessment) ซึ่งเป็นการประเมินนักเรียนเมื่อจบบทเรียน เพื่อพิจารณาสิ่งที่นักเรียนเรียนรู้เปรียบเทียบกับเป้าหมายทางการเรียนรู้ที่ได้ตั้งไว้ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดสินผลการเรียนของนักเรียน ซึ่งการประเมินผล แม้จะมีความเกี่ยวข้องกับการตัดสินผล การเรียนรู้ของนักเรียน ในรูปแบบของการออกเกรดหรือการคัดกรองว่าผ่านหรือไม่ผ่าน แต่สำหรับกระบวนการของการประเมินผลทั้งหมดแล้ว กลับมีคุณค่ามากกว่านั้น เพราะมันเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ช่วยให้ครูผู้สอนมีข้อมูลในการปรับปรุงรูปแบบการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับนักเรียน ซึ่งการประเมินผลที่ดีจะช่วยให้นักเรียนมีประสบการณ์ในการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับรูปแบบการเรียนรู้ของนักเรียน และทำให้นักเรียนได้รับการส่งเสริมและช่วยเหลืออย่างเหมาะสม
การเรียนออนไลน์นั้นค่อนข้างมีความแตกต่างจากการเรียนในชั้นเรียนตามปกติอยู่พอสมควร เพราะในการเรียนออนไลน์นั้น ครูผู้สอนกับนักเรียนนั้นไม่พบกันโดยตรงในห้องเรียน แต่พบกันผ่านเครื่องมือสื่อสารต่าง ๆ ซึ่งรูปของการเรียนออนไลน์นั้น มีทั้งแบบที่เป็นการทำคลิปวีดีโอการสอนรวบรวมไว้แล้วให้นักเรียนชมทีละตอน หรืออาจจะเป็นการสร้างบทเรียนออนไลน์สำเร็จรูปให้นักเรียนใช้ และรวมไปถึงการสอนแบบถ่ายทอดสดพร้อมกับนักเรียน ดังนั้นการประเมินผลจึงจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนหรือเลือกใช้ให้เหมาะสมกับการเรียนออนไลน์ในแต่ละรูปแบบ ซึ่งต่อไปนี้รูปแบบของการประเมินผลสำหรับการเรียนออนไลน์ที่น่าสนใจและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ มีดังนี้
นับว่าเป็นรูปแบบการประเมินดั้งเดิมที่ยังคงใช้กันอยู่ในทุกวันนี้ เพียงแต่เปลี่ยนจากการเขียนคำตอบในกระดาษหรือฝนคำตอบในกระดาษคำตอบ เป็นการคลิกเมาส์ หรือ ทัช เพื่อเลือกคำตอบในหน้าจอแทน ซึ่งข้อดีของการใช้แบบทดสอบนั้น คือความที่ง่ายต่อการประเมินผล เพราะมีรูปแบบการให้คะแนนที่ชัดเจน แล้วด้วยความสามารถของเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ทำให้มีการออกแบบแอปพลิเคชันหรือเครื่องมือที่ช่วยในการสร้างแบบทดสอบออนไลน์ มีการพัฒนาระบบสุ่มเลือกคำถาม สลับคำตอบ ซึ่งทำให้นักเรียนได้แบบทดสอบที่ไม่เหมือนกัน อันเป็นผลดีกับการประเมินที่มีผู้เข้าประเมินเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังสามารถวิเคราะห์ผลให้ผู้ทำการทดสอบได้โดยทันที ซึ่งรวดเร็วกว่าการทำแบบทดสอบทั่วไปที่ต้องรอตรวจสอบจากครูผู้สอนให้เรียบร้อยเสียก่อนจึงจะประกาศผล
คำถามปลายเปิดหรือการเขียนเรียงความ เป็นวิธีการประเมินเชิงคุณภาพที่ได้รับความนิยมมากที่สุดวิธีหนึ่ง โดยครูผู้สอนอาจโยนคำถามที่มีลักษณะปลายเปิดลงไปในช่องทางสื่อสาร แล้วให้นักเรียนอธิบายคำตอบลงบทช่องทางสื่อสารนั้นหรือการทำเป็นเอกสารและอัพโหลดลงในระบบก็ได้ ซึ่งสิ่งนี้ช่วยกระตุ้นให้นักเรียนได้มีโอกาสสำรวจความรู้ ความเข้าใจ การคิดวิเคราะห์ และความรู้สึกของตัวเอง แล้วแสดงออกเป็นความคิดเห็นในการตอบคำถาม ซึ่งเหมาะสมอย่างมากการประเมินการเรียนรู้ในระดับสูง
จุดเด่นอย่างหนึ่งของการเรียนออนไลน์คือ ครูผู้สอนสามารถสอดแทรกกิจกรรมที่เป็น interactive ในบทเรียนนั้น ๆ ได้โดยการใช้ประโยชน์จากแอปพลิเคชันหรือเครื่องมือต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้ครูผู้สอนสามารถสร้างเกมถามตอบ จับคู่ จับกลุ่ม หรือ จำแนก ได้ในรูปแบบที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ตอบโต้ในเกม ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนสนุกกับการเรียนรู้ และสนใจการเรียนออนไลน์มากขึ้น นอกจากนี้ผลลัพธ์จากการเล่นเกมยังเป็นข้อมูลในการประเมินผล.ห้กับครูผู้สอนได้อีกด้วย
วิธีการนี้ เหมาะมากกับการเรียนออนไลน์ที่เป็นการถ่ายทอดสด ซึ่งครูผู้สอนและนักเรียนจะต้องออนไลน์พร้อมกัน โดยปัจจุบันมี แอปพลิเคชันและเครื่องมือ ที่ช่วยให้ครูผู้สอนสามารถสื่อสารกับนักเรียนทั้งชั้นเรียนได้โดยการพบหน้าพร้อมกันหมด ซึ่งครูผู้สอนสามารถเลือกถามคำถามกับนักเรียนคนใดก็ได้ ซึ่งการตอบหรือแสดงความคิดเห็นของนักเรียนคนนั้น นักเรียนคนอื่นก็จะได้รับทราบด้วย ซึ่งเป็นวิธีการที่ดีในการประเมินความรู้ความเข้าใจ รวมถึงความคิดเห็นในเรื่องนั้น ๆ ของนักเรียน นอกจากนี้ครูผู้สอนยังสามารถเปิดโอกาสให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ถกเถียงกันได้ในหัวข้อที่เรียน เพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ร่วมกันได้อีกด้วย
แบบสำรวจเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการวัดความพึงพอใจ ซึ่งครูผู้สอนสามารถสร้างแบบสำรวจออนไลน์ขึ้น เพื่อให้นักเรียนทำหลังจากที่เรียนในแต่ละบทเรียน เพื่อดูว่านักเรียนคิดเห็นอย่างไร กับเนื้อหาวิชานี้ หรือถึงรูปแบบการเรียนการสอน ซึ่งข้อมูลที่ได้จากนักเรียนตรงนี้นับเป็นข้อมูลชั้นดีที่ครูผู้สอนสามารถนำมาใช้ในการปรับปรุงการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้
เป็นเรื่องยากที่ครูผู้สอนจะประเมินผลงานที่เป็นชิ้นงานอย่างพวกงานศิลปะหรืองานประดิษฐ์ โดยได้สัมผัสชิ้นงานจริง ในช่วงนี้ ดังนั้นครูผู้สอนอาจใช้ประโยชน์จากเครื่องมือรับส่งข้อความ โดยให้นักเรียนถ่ายภาพผลงานที่สำเร็จแล้ว และอาจรวมถึงภาพระหว่างการทำชิ้นงาน หรือคลิปวีดีโอ ซึ่งจะช่วยให้ครูผู้สอนสามารถประเมินผลงานของนักเรียนได้จากภาพถ่าย และรวมถึงประเมินได้ว่านักเรียนทำผลงานนั้นด้วยตัวเองหรือไม่ และมากน้อยแค่ไหน
ให้ลองนึกภาพการอภิปรายหน้าชั้นเรียน แต่เปลี่ยนจากหน้าชั้นเรียนเป็นการดำเนินการแบบออนไลน์ หรือครูผู้สอนอาจให้หัวข้อไปให้นักเรียนหาข้อมูลและนำมาอภิปรายในครั้งถัดไป ซึ่งอาจจะให้เป็นงานเดี่ยวหรืองานกลุ่มก็ได้ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของนักเรียนและทรัพยากรในการติดต่อสื่อสารกัน
สำหรับการประเมินผลการแสดงออกของนักเรียน เช่น การอ่านทำนองเสนาะ หรือ การอ่านจับใจความ การให้นักเรียนถ่ายคลิปวีดีโอการปฏิบัติของตัวเองแล้วแชร์ลงในช่องทางการสื่อสารออนไลน์น่าจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ที่ครูผู้สอนจะสามารถประเมินผลนักเรียนในการปฏิบัติว่าทำได้ดีมากน้อยแค่ไหน และยังเป็นการเช็คได้ว่านักเรียนให้ความร่วมมือในกิจกรรมมากแค่ไหนอีกด้วย
จะเห็นได้ว่า ในการประเมินผลการเรียนออนไลน์นั้น เรามันใช้ประโยชน์จะเทคโนโลยีในการสร้างแบบประเมินออนไลน์หรือใช้เป็นช่องทางที่ช่วยให้ครูผู้สอนสามารถประเมินผลนักเรียนได้ ซึ่งในอนาคตเราอาจจำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากการประเมินผลในรูปแบบออนไลน์นี้ สำหรับการเรียนตามปกติและการเรียนออนไลน์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในระบบการศึกษาของเราได้เป็นอย่างมาก
เรียบเรียงโดย : นรรัชต์ ฝันเชียร