โพสต์โดย : Admin เมื่อ 27 ต.ค. 2563 08:36:10 น. เข้าชม 166680 ครั้ง
เมื่อวันที่ 27 ต.ค.รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ตนได้ประชุมคณะทำงานปรับปรุงการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะแนวใหม่ใน 4 สายงาน คือ ครู ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้บริหารการศึกษา ซึ่งการปรับปรุงดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ที่ต้องการให้การประเมินวิทยฐานะปรับเปลี่ยนใหม่ทั้งระบบ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาครูและยกระดับผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนอย่างแท้จริง โดยการประเมินวิทยฐานะรูปแบบนี้จะไม่เหมือนการประเมินแบบเดิมอีกต่อไป เพราะเราจะลดความยุ่งยากของการประเมินและการประเมินด้วยเอกสารทั้งหมด ซึ่งได้วางกรอบแนวทางประเมินวิทยฐานะใหม่ไว้ 4 ข้อ ได้แก่ 1.ลดความซ้ำซ้อนของการประเมิน เช่น จะมีการประเมินวิทยฐานะของครูไปพร้อมกับเงินเดือน ซึ่งจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตามข้อตกลงในการพัฒนางาน (Performance Agreement) หรือ PA 2.การประเมินเพื่อขอมีและเลื่อนวิทยฐานะจะถูกประเมินผ่านรูปแบบออนไลน์ทั้งหมด ไม่มีการยื่นเอกสารการประเมินอีกต่อไป โดยขั้นตอนการยื่นประเมินผ่านออนไลน์นั้น สถานศึกษาจะทำหน้าที่เป็นหน่วยวิเคราะห์โดยผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งจะมีวงรอบการประเมินตามเงินเดือนระหว่าง เม.ย.และต.ค.
เลขาธิการ ก.ค.ศ.กล่าวต่อไปว่า ส่วน 3.การประเมินจะต้องเห็นผลการปฎิบัติงานของครูในห้องเรียน มุ่งผลสัมฤทธิ์ของเด็ก และ 4.การประเมินจะเชื่อมโยงไปที่ตัวผู้เรียนว่าครูสามารถยกระดับทักษะเด็กได้ตรงตามการเรียนรู้ในโลกศตวรรษที่ 21 หรือไม่ สำหรับการคงประเมินวิทยฐานะของครูจะคงไว้ที่ 5 ปี และหากครูต้องการทำผลงานเพื่อขยับเลื่อนวิทยฐานะจากชำนาญการเป็นชำนาญการพิเศษนั้นจะมีการพิจารณาจาก 3 องค์ประกอบ คือ คลิปการสอนของครูในห้องเรียน แผนประกอบการเรียนการสอน และผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน ดังนั้นการประเมินเพื่อขอมีและเลื่อนวิทยฐานะแนวใหม่จะเน้นการประเมินความก้าวหน้าจากการสอนของครูและผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน โดยจะยกเลิกการนำผลงานต่างๆของครูแล้วมาสะสมเย็บเล่มเป็นรายงานส่งเพื่อประเมิน ทั้งนี้การประเมินวิทยฐานะรูปแบบใหม่เมื่อยื่นผ่านระบบออนไลน์แล้วภายใน 2-3 เดือนก็จะทราบผลว่าผ่านหรือไม่ผ่านการประเมิน อย่างไรก็ตามกรอบแนวคิดการประเมินวิทยฐานะรูปแบบจะนำไปรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน จากนั้นนำมาสรุปประมวลผล ซึ่งคาดว่าจะประกาศใช้การประเมินวิทยฐานะใหม่อย่างเป็นทางการได้ในปีการศึกษา 2564 อย่างแน่นอน
“การปรับวิทยฐานะใหม่เรามีทีมวิจัยจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีการอิงผลการประเมินและพัฒนาครูจากต่างประเทศ เพราะระบบวิทยฐานะครูที่ควรจะเป็นคือต้องประเมินตามสภาพความเป็นจริงที่สะท้อนพัฒนาการผลลัพธ์การเรียนของผู้เรียน” รศ.ดร.ประวิต กล่าว