โพสต์โดย : Admin เมื่อ 8 ต.ค. 2563 06:13:32 น. เข้าชม 166501 ครั้ง
สมศ.ทดลองใช้แอปพลิเคชันผู้ประเมินครั้งแรก ขานรับการประเมินรูปแบบใหม่ปี 64 มั่นใจระบบใหม่แม่นยำ รวดเร็ว ลดภาระ ด้านโรงเรียนเห็นด้วยเกณฑ์ใหม่
วันนี้ (8 ต.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ลงพื้นที่ จ.หนองคาย นำร่องทดลองใช้แอปพลิเคชัน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประเมินรูปแบบใหม่ปี 2564
ดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการ สมศ. กล่าวว่า สมศ. ได้ลงพื้นที่ทดลองใช้แอปพลิเคชันสำหรับผู้ประเมินภายนอกจะช่วยให้การลงพื้นที่เป็นไปได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ผู้ประเมินสามารถส่งรายละเอียดไปยังอีเมล เพื่อแก้ไขรายงานสรุปได้ทันที ลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน ลดภาระงานของสถานศึกษา รวมถึงลดระยะเวลาในการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเหลือเพียงแค่ 1 วัน สำหรับสถานศึกษาขนาดเล็ก และช่วยลดปัญหาการร้องเรียนในกรณีต่าง ๆ เช่น ผู้ประเมินมาสาย หรือกลับก่อนเวลา อีกทั้งในกรณีที่เกิดการร้องเรียนก็สามารถตรวจสอบประวัติการดำเนินการผ่านแอปพลิเคชันได้เลย ซึ่งระบบแอปพลิเคชันจะทำให้ สมศ. และหน่วยประเมินรู้สถานะของผู้ประเมินพร้อมกัน
“ผู้ประเมินคล่องตัวมากขึ้น จากเดิมต้องถือเอกสาร ปรับมาใช้มือถือแทน บางคนที่อายุคนข้างมาก อาจใช้วิธีการบันทึกข้อมูลผ่านเสียง จากนั้นระบบจะแปลงเป็นไฟล์ข้อความและส่งเข้าอีเมล เพื่อนำไปแก้ไขก่อนส่งรายงานฉบับสมบูรณ์”
จากเดิมการประเมินโรงเรียนต่อแห่งใช้เวลา 15-30 วัน ซึ่งแอปพลิเคชันดังกล่าวช่วยให้ สมศ.ประเมินสถานศึกษาได้มากขึ้น ปีนี้ตั้งเป้า 15,000 แห่ง โดยเดือน พ.ย.นี้ จะเริ่มประเมินศูนย์เด็กเล็ก และประเมินโรงเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในเดือน ธ.ค.นี้ ระยะแรกเป็นการประเมินสถานศึกษาที่ส่งรายงานการประเมินตนเอง (SAR) เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลและส่งไปยังสถานศึกษา ก่อนสถานศึกษาเชิญลงพื้นที่และประเมินโดยใช้แอปพลิเคชัน รวมทั้งการประเมินจะเชื่อมโยงกับการประกันคุณภาพภายในของโรงเรียน ซึ่งไม่ต้องดำเนินการใด ๆ เพิ่มเติม เป็นเพียงการการันตีมาตรฐานประกันคุณภาพภายใน สร้างความมั่นใจให้กับผู้ปกครองในการส่งลูกหลานเข้ามาเรียน
“การประเมินแบบเดิมจะใช้วิธีการเขียน ค่อนข้างลำบาก บางครั้งผู้ประเมินค่อนข้างสูงวัย แต่แอปฯ ใช้วอยซ์เท็กได้ สมศ.จะเห็นข้อมูลทั้งหมดหากผู้ประเมินไปสาย กลับเร็ว”
ดร.นันทา กล่าวว่า ขณะนี้ระบบแอปพลิเคชันมีความสมบูรณ์พร้อมใช้งานแล้ว ร้อยละ 90 ซึ่ง สมศ.จะเริ่มให้ผู้ประเมินใช้แอปพลิเคชันในกระบวนการประเมินอย่างเต็มรูปแบบในเดือน ธ.ค.2563 เนื่องจากเป็นเดือนแรกที่จะเริ่มการประเมินในรูปแบบใหม่ นอกจากการนำแอปพลิเคชันมาใช้ระบบการประเมินแล้ว สมศ.ยังพิจารณาปรับเกณฑ์ การประเมินรูปแบบใหม่เพื่อให้การประเมินเกิดประโยชน์สูงสุดต่อสถานศึกษา สามารถนำผลประเมินไปใช้พัฒนาสถานศึกษาได้จริง โดยคาดหวังว่าจะประเมินสถานศึกษาทั่วประเทศกว่า 60,000 แห่งอย่างทั่วถึง ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม ม.49
“การลงพื้นที่ทดลองใช้ระบบแอปพลิเคชันครั้งนี้ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ หลังจากนี้ สมศ.จะนำข้อมูลที่ได้ไปปรับให้ระบบแอปพลิเคชันมีความสมบูรณ์และประเมินสถานศึกษาได้ในปริมาณเพิ่มขึ้น”
ด้าน น.ส.พวงแก้ว สกุลทอง ผู้อำนวยการโรงเรียนเซนต์ปอลหนองคาย กล่าวว่า ทางโรงเรียนเห็นด้วยที่ทาง สมศ. มีการปรับรูปแบบ ปรับเกณฑ์และระบบการประเมินโดยการลดความซ้ำซ้อน ลดจำนวนวันลงพื้นที่ ลดภาระงานของโรงเรียน เน้นการประเมินที่สามารถนำไปปรับใช้ได้จริงและเกิดประโยชน์ต่อโรงเรียน
สำหรับการประเมินรูปแบบใหม่ปี 2564 ทางโรงเรียนได้ประชุมวางแผนทุกสัปดาห์และดำเนินงานตามแผน ตามขั้นตอนของระบบการประกันคุณภาพภายใน พร้อมทั้งปรับปรุงรูปแบบการเรียนการสอน เพิ่มทักษะความชำนาญทางเทคโนโลยีให้ให้แก่ครู เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ซึ่งแนวทางดังกล่าวถือว่าเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับเข้ารับการประเมินรูปแบบใหม่ด้วย สำหรับสถานศึกษาแห่งอื่น ที่จะเข้ารับการประเมินคุณภาพภายนอก สถานศึกษาต้องสำรวจบริบทของตัวเองก่อนว่าอะไรคือจุดเด่น หรือจุดที่ควรพัฒนาเพิ่มเติม หลังจากนั้นให้กำหนดเป้าหมายการประกันคุณภาพภายในให้สอดคล้องกับสิ่งที่จะต้องปรับปรุง และพัฒนาให้ดีขึ้น เพราะหากสถานศึกษาทำประกันคุณภาพภายในได้ดี ก็จะส่งผลให้การประเมินภายนอกดีตามไปด้วย โดยที่สถานศึกษาไม่จำเป็นต้องทำอะไรเพิ่มเติม เพราะการประเมินของ สมศ.รูปแบบใหม่ไม่ได้เพิ่มภาระให้แก่สถานศึกษาอีกต่อไป
“
การประเมินแบบเก่าเป็นภาระ หลายครั้งต้องเสียเวลา ต้องทิ้งเด็กเพื่อทำเอกสาร แต่การสื่อสารสมัยใหม่ลดภาระมาก ๆ เห็นด้วยกับ สมศ.ที่ประเมินแบบใหม่”