นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) วิเคราะห์ข้อดี ข้อเสีย ของการเรียนซ้ำชั้น โดย สพฐ.ได้สรุปข้อมูลเสนอรัฐมนตรีว่าการ ศธ.พิจารณาแล้ว ทั้งนี้ จากการเปิดให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งผู้ปกครอง ผู้บริหารสถานศึกษา ครู นักวิชาการ นักจิตวิทยา และผู้เกี่ยวข้องจากหลายภาคส่วน แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ มีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ผู้ที่เห็นด้วยมองว่าการให้เรียนซ้ำชั้น ควรเริ่มตั้งแต่ชั้น ป.1 เพื่อให้อ่านออก เขียนได้ มีความรู้ที่จะเรียนในระดับที่สูงขึ้น ช่วยให้ผู้เรียนกระตือรือร้น ให้ความสำคัญกับการเรียน และเข้าใจในเนื้อหาที่เรียนมากขึ้น สำหรับข้อเสีย ส่วนใหญ่โดยเฉพาะนักจิตวิทยากังวลว่าจะมีผลกระทบทางจิตใจ ส่งผลต่อความสัมพันธ์ พฤติกรรมทางสังคม ทำให้เด็กเครียด และถ้าเป็นนักเรียนระดับมัธยม อาจถึงขั้นไม่เรียน และตัดสินใจลาออก ขณะที่ผู้ปกครองบางคนมองว่าทำให้เด็กเสียเวลา ขาดโอกาส ทั้งนี้ที่ผ่านมา สพฐ.ไม่เคยมีนโยบายห้ามไม่ให้เด็กที่สอบตกเรียนซ้ำชั้น และเรื่องนี้กำหนดไว้ในปฏิบัติการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามหลักสูตรอยู่แล้ว เพียงแต่โรงเรียนอาจไม่เข้าใจ ดังนั้น จึงได้เสนอให้ออกหนังสือซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับแนวปฏิบัติดังกล่าวไปยังผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.)ทั่วประเทศ เพื่อแจ้งไปยังโรงเรียนต่างๆ
นายการุณกล่าวต่อว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ลงนามในประกาศที่ ศธ 04010/ว1578 สพฐ.เรื่องซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับแนวปฏิบัติการเรียนซ้ำชั้น ถึงผู้อำนวยการ สพท.ทั่วประเทศ ว่าตามที่ ศธ.ประกาศใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 และได้กำหนดแนวปฏิบัติการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามหลักสูตรดังกล่าว เพื่อให้สถานศึกษานำไปปฏิบัตินั้น เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ชัดเจน และตรงกัน ในประเด็นของการเรียนซ้ำชั้น มีประเด็นที่ สพฐ.ขอซักซ้อมความเข้าใจ ดังนี้ 1.การวัดและประเมินผลการเรียน ให้สถานศึกษาวัดและประเมินผลการเรียนของผู้เรียนเป็นระยะระหว่างเรียน โดยใช้เทคนิคการวัดและประเมินผลอย่างหลากหลาย เพื่อตรวจสอบพัฒนาการความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของผู้เรียน ถ้าพบปัญหา หรือข้อบกพร่องในตัวผู้เรียน ให้ช่วยเหลือ และซ่อมเสริมทันที โดยเฉพาะชั้น ป.1 ต้องพัฒนาให้ผู้เรียนอ่านออก เขียนได้
นายการุณกล่าวอีกว่า 2.การสอนซ่อมเสริม เพื่อแก้ไขข้อบกพร่อง และพัฒนาผู้เรียน ให้มีความรู้ ทักษะ กรณีที่ผู้เรียนมีผลการประเมินไม่ผ่าน หรือได้ “0” สถานศึกษาต้องจัดสอนซ่อมเสริมให้ผู้เรียนก่อนสอบแก้ตัวนอกเหนือจากการสอนปกติ 3.ให้ผู้เรียนสอบแก้ตัว 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 ให้ผู้เรียนยื่นคำร้องสอบแก้ตัว โดยให้ครูประจำวิชา หรือครูประจำชั้นสอนซ่อมเสริม และสอบแก้ตัว ให้เสร็จก่อนเปิดภาคเรียน หรือภาคเรียนแรกของปีการศึกษาถัดไป สอบแก้ตัวครั้งที่ 2 กรณีครั้งที่ 1 ไม่ผ่าน หรือไม่มาสอบแก้ตัว ให้โอกาสสอบแก้ตัวอีก 1 ครั้ง โดยสถานศึกษาแต่งตั้งกรรมการสอนซ่อมเสริม และสอบแก้ตัวให้เสร็จก่อนเปิดภาคเรียน หรือในภาคเรียนแรกของปีการศึกษาถัดไป 4.เรียนซ้ำชั้นรายวิชา ผู้เรียนที่สอนซ่อมเสริม และสอบแก้ตัว 2 ครั้งแล้ว ไม่ผ่านเกณฑ์ประเมินรายวิชา หรือยังได้ “0” ถ้าเป็นรายวิชาพื้นฐานให้เรียนซ้ำชั้นในวิชานั้น ถ้าเป็นรายวิชาเพิ่มเติม ให้เรียนซ้ำชั้นในวิชานั้น หรือเปลี่ยนวิชาใหม่ ทั้งนี้ ให้อยู่ในดุลยพินิจของสถานศึกษา กรณีเปลี่ยนวิชาใหม่ ให้หมายเหตุในระเบียบแสดงผลการเรียนว่าเรียนแทนวิชาใด ในการเรียนซ้ำรายวิชาให้อยู่ในช่วงใดช่วงหนึ่งที่สถานศึกษาเห็นว่าเหมาะสม เช่น พักกลางวัน วันหยุด ชั่วโมงว่างหลังเลิกเรียน ภาคฤดูร้อน เป็นต้น
นายการุณกล่าวว่า และ 5.การเรียนซ้ำชั้น หากพบปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนกรณีใดกรณีหนึ่ง ซึ่งมีแนวโน้มจะเป็นปัญหาต่อการเรียนในระดับชั้นที่สูงขึ้น ดังนี้ ระดับประถม ผู้เรียนไม่ผ่านรายวิชาเกินครึ่งหนึ่งตามโครงสร้างเวลาเรียน ผู้เรียนชั้น ป.1-2 ได้รับการประเมินแล้วยังอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ คิดเลขไม่เป็น ระดับมัธยม การเรียนซ้ำชั้นของผู้เรียนในระดับมัธยม เมื่อผู้เรียนไม่ผ่านเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้ มีผลการเรียนเฉลี่ยในปีการศึกษานั้นต่ำกว่า 1.00 และมีแนวโน้มจะเป็นปัญหาต่อการเรียนในระดับที่สูงขึ้น ผู้เรียนที่มีผลการเรียน “0”, “ร” หรือ “มส” เกินครึ่งหนึ่งของรายวิชาที่ลงทะเบียนเรียนในปีการศึกษานั้น ทั้งนี้ การพิจารณาให้เรียนซ้ำชั้นหรือซ้ำชั้นรายวิชา ให้สถานศึกษาดำเนินการในรูปของคณะกรรมการ ให้แจ้งผู้ปกครองและผู้เรียนทราบเหตุผลของการเรียนซ้ำชั้นหรือซ้ำรายวิชา