โพสต์โดย : Admin เมื่อ 30 พ.ย. 2561 20:53:09 น. เข้าชม 166422 ครั้ง
อัพเกรดร.ร. – กรณีที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เขต 3 ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบหลายโรงเรียนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพบว่ามีโรงเรียนกว่า 10 แห่ง ตกแต่งบัญชีรายชื่อนักเรียนที่ไม่มีอยู่จริง หรือ ‘เด็กผี’ เข้าไปในบัญชีรายชื่อ เพื่ออัพเกรดขนาดโรงเรียนให้ใหญ่ขึ้น เพื่อให้มีผลกับการโยกย้ายผู้อำนวยการโรงเรียนจากโรงเรียนขนาดเล็ก ไปดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนขนาดใหญ่ และขนาดใหญ่พิเศษ โดยคาดหวังที่จะได้ผลประโยชน์จากการเรียกเก็บเงินค่าแป๊ะเจี๊ยะนั้น
วันที่ 30 พ.ย. นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำลังดำเนินการตรวจสอบอยู่ หากพบว่าใครตั้งใจทำผิดเพิ่มตัวเลขนักเรียนไม่มีตัวตนนั่งเรียนจริง และชี้แจงไม่ได้โดนแน่ ซึ่งในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาการทุจริต ของ ศธ. โดยมีสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เข้าร่วมประชุมด้วย
และที่ผ่านมาทาง ป.ป.ท. ก็ลงไปตรวจสอบเรื่องนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่มีหน่วยงานอื่นเข้ามาช่วยกันตรวจสอบ เหมือนโครงการอาหารกลางวัน ที่พบว่ามีการทุจริตและลงโทษไปแล้ว ซึ่งระดับโทษของการแจ้งข้อมูลเท็จ ทุจริต เพราะเบียดบังเอาเงินไปนั้น ผู้อำนวยการสถานศึกษาจะถูกลงโทษวินัยร้ายแรงในฐานะที่เป็นผู้บริหาร และถ้าใครเอาเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวเด็กที่ไม่มีตัวตนไปก็ต้องคืน เพราะเป็นเงินที่รับไม่ได้ตั้งแต่ต้นมันผิดกฎหมาย ซึ่งผู้อำนวยการโรงเรียนต้องรับผิดชอบในการคืนเงิน
ด้านนายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า จากการลงพื้นที่จังหวัดชัยภูมิและจังหวัดอื่นๆ พบว่า จำนวนนักเรียนที่คลาดเคลื่อนมาจาก 2 เหตุผล คือ 1.เรื่องทางเทคนิค ในการทำทะเบียนนักเรียนกับการย้ายทะเบียนนักเรียน ทำให้มีจำนวนนักเรียนไม่ตรงมีชื่อติดค้างในบัญชี เช่น เด็กตาย ไปแต่งงาน นักเรียนย้ายไปแล้ว แต่ไม่มีการย้ายข้อมูลออก หรือนักเรียนย้ายมาเรียน และไม่โอนข้อมูลเข้ามา หรือนักเรียนม.3 ม.6 ติดศูนย์, ติด ร., ติด มส. แต่ไม่มาแก้ เป็นต้น และ 2.เหมือนมีการตั้งใจที่ทำให้ข้อมูลนักเรียนไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ซึ่ง สพฐ.ให้เวลาโรงเรียนทั่วประเทศจัดการข้อมูลนักเรียนให้เป็นปัจจุบันภายในวันที่ 30 พ.ย.
โดยให้โรงเรียนเร่งดำเนินการจำหน่ายนักเรียนให้ตรงกับความเป็นจริง หรือ หากจำหน่ายไม่ได้ ก็จะต้องมีข้อมูลที่ตรงกับความเป็นจริงและให้ขึ้นบัญชีว่าอยู่ระหว่างดำเนินการ จากนั้นให้มีการนับตัวพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 3 ธ.ค. 2561 ซึ่งการนับตัวเลขจะมีกรรมการจากสำนักงานเขตพื้นที่ และกรรมการสถานศึกษาของโรงเรียนไปร่วมนับ และส่งแจ้งข้อมูลเข้าระบบฐานข้อมูลบุคคล หรือ DMC ภายในวันที่ 10 ธ.ค. ทุกโรงเรียนทั่วประเทศรายงานข้อมูลจำนวนนักเรียน โดยแยกบัญชีนักเรียนที่มีตัวตนจริง และไม่มีตัวตนออกจากกันชัดเจน
“จากนั้น สพฐ.จะนำข้อมูลจำนวนตัวเลขนักเรียนที่โรงเรียนรายงาน วันที่ 10 มิ.ย. 2561 รายงานวันที่ 10 พ.ย. 2561 และรายงานวันที่ 3 ธ.ค. 2561 มาเปรียบเทียบเพื่อดูข้อมูลภาพรวมทั้งหมด ว่าผิดปกติ หรือไม่อย่างไร ทั้งนี้ในส่วนผู้ที่มีเจตนาแจ้งเอกสารเท็จ ถือเป็นเรื่องร้ายแรง มีความผิดทางวินัย และอาจไปถึงคดีอาญา ซึ่งต้องดูว่าทำให้เกิดความเสียหายหรือไม่ และถ้าไปกระทบเรื่องการใช้เงินที่ไม่ถูกต้อก็จะต้องรับผิดชอบทางแพ่งด้วย” นายบุญรักษ์ กล่าว