เมื่อวันที่ 29 มี.ค. ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) พล.ต.อ.จรัมพร สุระมณี กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ดป.ป.ท. ว่า บอร์ดป.ป.ท.ได้ลงมติตั้งอนุกรรมการไต่สวนความผิดของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 8 ศูนย์ ประกอบด้วย ตรัง, กระบี่, บุรีรัมย์, สุรินทร์, อำนาจเจริญ, กาฬสินธุ์, นครพนม และชัยภูมิ นอกจากนี้ ยังตั้งอนุกรรมการไต่สวนสหกรณ์สันกำแพง จ.เชียงใหม่ นิคมสร้างตนเองจ.บุรีรัมย์ มีผู้ถูกกล่าวหา 49 คน รวมบุคคลที่ถูกกล่าวหาในการตั้งอนุกรรมการไต่สวนความผิดแล้ว 94 คน
พล.ต.อ.จรัมพร กล่าวต่อว่า ภายหลังเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบการทุจริตของศูนย์คนไร้ที่พึ่ง โดยผู้อำนวยการศูนย์บางแห่งเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ทำให้ยากต่อการสอบสวน บอร์ดป.ป.ท.จึงทำหนังสือไปยังกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้ย้ายผู้อำนวยการศูนย์จังหวัดตรัง, ชัยภูมิ และบุรีรัมย์ ออกนอกพื้นที่ ส่วนจ.นครพนม มีผู้อำนวยการโรงเรียนเข้ามาสนับสนุนการกระทำความผิดและคุกคามพยาน จึงเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการย้ายออกจากพื้นที่เช่นกัน
“ขณะนี้ยังไม่มีการชี้มูลความผิด แต่การเสนอให้ย้ายออกนอกพื้นที่เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวน โดยยึดตามแนวมติคณะรัฐมนตรี ที่เปิดช่องให้สามารถเสนอย้ายผู้ที่มีพฤติการณ์เบี่ยงเบนพยานหลักฐานเพื่อปกปิดความผิด ออกนอกพื้นที่ได้” พล.ต.อ.จรัมพร กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงการตรวจสอบเส้นทางการเงินของข้าราชการระดับสูง พล.ต.อ.จรัมพร กล่าวว่า ภายหลังการตั้งอนุกรรมการไต่สวนความผิดของผู้อำนวยการศูนย์ เป็นอำนาจของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ที่จะเข้ามาตรวจสอบธุรกรรมการเงิน ส่วนการยึดอายัดทรัพย์เป็นอำนาจโดยตรงของปปง. ส่วนจะเชื่อมโยงไปถึงข้าราชการระดับสูงอย่างไร ขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงเข้ามาตรวจสอบให้ชัดเจนก่อน
“การกระทำทุจริตทั้ง 53 จังหวัด ถือเป็นอาชญากรรมที่ทำอย่างต่อเนื่อง มีแบบแผนเดียวกัน และทำกันเป็นระบบ เชื่อว่าไม่ใช่ระดับล่างเท่านั้นที่เกี่ยวข้อง เพราะการจะทำเป็นระบบได้น่าเชื่อว่าต้องมีการกำหนดเป็นแนวปฏิบัติ ที่ทำให้สามารถประกอบอาชญากรรมเหมือนๆกันได้” พล.ต.อ.จรัมพรกล่าว