โพสต์โดย : Admin เมื่อ 5 ธ.ค. 2560 15:27:06 น. เข้าชม 166414 ครั้ง
จากกรณีความขัดแย้งระหว่างผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) และศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ที่เกิดจากข้อที่ 13 ในคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่กำหนดให้อำนาจการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัดและกรุงเทพฯ ตามมาตรา 53(3) และ (4) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้เป็นของ ศธจ.โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) จากเดิมเป็นอำนาจของ ผอ.สพท. ทำให้นายธนชน มุทาพร ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ชัยภูมิ เขต 1 ในฐานะประธานชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย (ชร.ผอ.สพท.) และรักษาการเลขาธิการสมาคมนักบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย (ส.บ.พ.ท.) รวบรวม 50,000 รายชื่อเสนอ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.เพื่อขอให้พิจารณายกเลิกข้อที่ 13 ของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 19/2560 หากไม่รับข้อเสนอ จะเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ด้วยตัวเอง โดยมีสมาชิก ส.บ.พ.ท.และองค์กรครูทั่วประเทศร่วมสมทบ โดยล่าสุดนพ.ธีระเกียรติ ยอมรับลูก เสนอนายกรัฐมนตรี แก้ไขข้อที่ 13 ของคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 19/2560 นั้น
เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ยืนยันว่าระหว่างศธจ.และสพท. ไม่มีความขัดแย้ง เป็นเพียงการทำงานที่ยังไม่ลงตัว ซึ่งหลังจากที่เราดำเนินการใน 5 ประเด็น คือ 1.กำหนดกรอบอัตรากำลังของ ศธจ. และ สพท.ให้เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกัน ขณะนี้มีข้อสรุปในกรอบความคิดแล้ว รอดำเนินการให้มีผลบังคับใช้ตามขั้นตอนต่อไป 2.การใช้อำนาจตามมาตรา 53 (3) และ (4) แห่งพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูฯ มีข้อสรุปในการแบ่งอำนาจในการใช้ตามมาตรานี้เป็นที่ยอมรับของทั้ง 2 ฝ่ายแล้วว่าถ้าดำเนินการเช่นนี้จะช่วยให้การปฏิบัติงานร่วมกันของ ศธจ.และ สพท.มีประสิทธิภาพต่อการบริหารงานบุคคลในจังหวัด ซึ่งขณะนี้ สป.ศธ.กำลังเร่งรัดดำเนินการอยู่ 3.การจัดทำแผนบูรณาการร่วมกันในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา 4.การจัดระบบการนิเทศการศึกษา และ 5.การจัดทำคู่มือการปฏิบัติงานร่วมกันของ สพท.และ ศธจ. เมื่อเรียบร้อย จะเชิญผอ.สพท.และศธจ. มาประชุมเกี่ยวกับการทำงาน และภารกิจที่ต้องทำร่วมกัน ทั้งนี้ในส่วนนี้ไม่ถือเป็นความขัดแย้ง เป็นเรื่องของข้อขัดข้องทางเทคนิคในการประสานงาน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ความขัดแย้งลามไปถึงระดับผู้อำนวยการโรงเรียนฟ้องศธจ.ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องที่ศธจ.บางแห่งยังไม่พิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนครู นายบุญรักษ์ กล่าวว่า เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเพียง 2-3 คน ไม่อยากให้คิดว่าเป็นความขัดแย้งของทั้งระบบ ทุกวันนี้ ส่วนกลาง สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(สป.ศธ.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ยังทำงานร่วมกันได้ดี มีการสื่อสารลงไปพื้นที่ คนส่วนใหญ่ 99.99% ไม่มีปัญหา กรณีศธจ.ไม่พิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนครู ก็ไม่จริง เป็นเรื่องของกระบวนการ ซึ่งมีช้าบ้าง เร็วบ้าง แล้วแต่ความพร้อมในการทำงานของแต่ละพื้นที่ ซึ่งเราทำงานในรูปแบบองค์คณะ อาจมีความพร้อมหรือไม่พร้อมบ้าง ไม่มีเจตนาไม่เลื่อนเงินเดือนครู เพราะเป็นหน้าที่ที่ต้องทำอยู่แล้ว เรื่องการพิจารณาช้า เร็ว ไม่ได้เพิ่งมาเกิดขึ้นตอนมีคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด(กศจ.) ตอนมีคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่ฯ บางครั้งก็มีข้อติดขัด ทำให้การพิจารณาต่าง ๆ ล่าช้าไปเหมือนกัน ส่วนที่ถามว่า มีข้อเสนอให้ยกเลิกข้อ 13 ในคำสั่งคสช.ที่ 19/2560 แทนที่จะปรับแก้ เพราะอาจขัดคำสั่งคสช.นั้น เรื่องนี้ในระดับผู้บริหารระดับสูง เห็นว่าทำได้ ก็ต้องทำได้ มีการพูดคุยกันแล้ว ส่วนที่เสนอให้ยกเลิกคำสั่งคสช. ข้อที่ 13 จะทำได้หรือไม่นั้น เรื่องนี้ไม่รู้ เพราะเราไม่ได้พิจารณาแนวทางดังกล่าว ทุกอย่างเตรียมการไว้หมดแล้ว รอผู้บังคับบัญชาที่เหนือกว่าให้ความเห็นชอบ
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก มติชนออนไลน์ วันที่ 5 ธันวาคม 2560 - 14:58 น.