โพสต์โดย : Admin เมื่อ 11 ก.ค. 2560 14:37:32 น. เข้าชม 166428 ครั้ง
หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินวิทยฐานะและการพัฒนาข้าราชการครูแบบใหม่ ประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา
ถือเป็นการปฏิรูปการศึกษาในส่วนของการพัฒนาครูครั้งใหญ่!!
การปฏิรูปครั้งนี้ เกิดจากกระแสพระราชดำรัสผ่านพระราชหัตถเลขาของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2555 ทรงห่วงใยคุณภาพการศึกษาชาติ ถึงการเลื่อนวิทยฐานะว่า ครูมุ่งเขียนงานวิทยานิพนธ์ เขียนตำราส่งผู้บริหาร เพื่อให้ได้ตำแหน่ง และเงินเดือนสูงขึ้น ระบบนี้ไม่ยุติธรรม ต้องเปลี่ยน
พระองค์ทรงเน้นว่า ครูที่สอนดี ทั้งปริมาณ และคุณภาพ ควรจะได้รับการตอบแทน
เป็นเหตุผลหลักทำให้ ศธ.เร่งสนองพระราชปณิธาน ปรับหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินวิทยฐานะ เพื่อให้ครูที่ตั้งใจสอน ครูที่อยู่ในห้องเรียน ได้รับการตอบแทนที่มีความเหมาะสมเป็นธรรม
ที่สำคัญ คือแก้ไขข้อบกพร่องของเกณฑ์วิทยฐานะเดิม มีข้อกล่าวหามาตลอดว่าทำให้ครูทิ้งห้องเรียน มีการคัดลอกผลงาน จ้างทำ หรือครูบางคนจ้างนักเรียนทำผลงาน เป็นต้น รวมถึง ยังเป็นการประเมินไม่เป็นธรรม โดยครู 1 คนใช้กรรมการผู้ประเมิน 3 คน ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีครูทั้งหมด 4 แสนคน คำนวณเบื้องต้นต้องใช้กรรมการผู้ประเมินกว่า 1.2 ล้านคน จึงจะเพียงพอสำหรับการประเมินเป็นรายบุคคล แน่นอนว่า สพฐ.มีบุคลากรผู้ประเมินไม่เพียงพอ ดังนั้นคนเป็นกรรมการประเมินจึงต้องใช้วนไปมา ทำให้การประเมินไม่ยุติธรรม และใช้งบประมาณถึงปีละหลายหมื่นล้านบาท
สำหรับหลักเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะใหม่ จะกำหนดระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง/วิทยฐานะในแต่ละระดับ คือ ชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ เชี่ยวชาญ และเชี่ยวชาญพิเศษ ระดับละ 5 ปี กำหนดชั่วโมงการปฏิบัติงาน และการปฏิบัติงานอื่น โดยชำนาญการ/ชำนาญการพิเศษ ไม่น้อยกว่า 800 ชั่วโมงต่อปี เชี่ยวชาญ และเชี่ยวชาญพิเศษ ไม่น้อยกว่า 900 ชั่วโมงต่อปี มีวินัย คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพ ไม่ถูกลงโทษทางวินัย จรรยาบรรณวิชาชีพ ย้อนหลัง 5 ปี นับแต่วันที่ยื่นคำขอผ่านการพัฒนาตามที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กำหนด มีผลงานเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ ได้แก่ การจัดการเรียนการสอน การบริหารจัดการชั้นเรียน และการพัฒนาตนเองและวิชาชีพ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการประเมิน เพราะผู้อำนวยการสถานศึกษาทำหน้าที่เป็นผู้ประเมินตามตัวชี้วัด
ส่วนการอบรมพัฒนาครูโดยมีสถาบันคุรุพัฒนาเป็นหน่วยประสานเชื่อมโยงหน่วยงานผู้จัดหลักสูตรอบรมพัฒนาครู จะต้องมีความเชื่อมโยงกับหลักเกณฑ์วิทยฐานะ สพฐ.ได้จัดสรรงบประมาณให้ครูคนละ 1 หมื่นบาทต่อคนต่อปี เพื่อให้ครูได้เลือกหลักสูตรอบรมได้ตามความต้องการ
นอกจากนี้ เพื่อไม่ให้ครูเสียสิทธิ ยังกำหนดบทเฉพาะกาล แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
1.ผู้บรรจุก่อนวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 กรณีได้ยื่นคำขอมี หรือเลื่อนวิทยฐานะ ตามหลักเกณฑ์ ว17/2552 ไว้ก่อนแล้ว และยังไม่ทราบผลการพิจารณา ถ้าผลการพิจารณาอนุมัติก็สามารถยื่นขอเลื่อนวิทยฐานะถัดไปได้ ในหลักเกณฑ์ ว17 ได้อีก 1 ครั้ง ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่มีคุณสมบัติครบ แต่ถ้าไม่อนุมัติ ก็สามารถยื่นขอเลื่อนในหลักเกณฑ์ ว17 ได้อีก 1 ครั้ง ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้รับแจ้งมติ และกรณีคุณสมบัติครบที่จะยื่นขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะได้ หลังวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 สามารถยื่นคำขอตามหลักเกณฑ์ ว17 ได้อีก 1 ครั้ง ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ตนเองมีคุณสมบัติครบ และ
2.ผู้ที่บรรจุหลังวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 ให้ยื่นขอตามหลักเกณฑ์ใหม่เท่านั้น
นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับหลักเกณฑ์และวิธีการวิทยฐานะแนวใหม่ เพราะเกณฑ์เก่ามีข้อเสีย และข้อบกพร่องค่อนข้างมาก ทำให้เกิดวัฒนธรรม การใช้เอกสาร ครูมุ่งทำผลงานทางวิชาการ ทิ้งการสอน และประสิทธิผลเกิดขึ้นกับตัวเด็กต่ำมาก ดังนั้นส่วนตัวเชื่อว่าหลักเกณฑ์วิทยฐานะใหม่จะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ทำให้ครูมีเวลาอยู่ในห้องเรียนมากขึ้น
แต่ยังมีข้อห่วงใยกรณีกำหนดให้ครูทำแผนการดำเนินงานเสนอต่อผู้อำนวยการโรงเรียน จะเป็นผู้ประเมินผลการทำงานของครูว่าตรงตามแผนงานที่กำหนดไว้หรือไม่ ตรงนี้หากได้ผู้บริหารดีก็ไม่มีปัญหา แต่หากได้ผู้บริหารไม่มีความเป็นธรรม ก็อาจทำให้การประเมินไม่มีความเป็นธรรม อีกประเด็นคือ การกำหนดให้ครูต้องผ่านการอบรมพัฒนาตัวเอง โดยจัดสรรงบให้ปีละ 1 หมื่นบาทต่อคนต่อปี ถือว่า ศธ.ต้องใช้งบในเรื่องดังกล่าวค่อนข้างมาก และอาจทำให้กลายเป็นธุรกิจจัดอบรม ทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ตรงกับความต้องการ และยังเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตในวงการศึกษาขึ้นอีก ขณะเดียวกันการอบรมอาจไม่มีความยั่งยืน และครูไม่สามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ประโยชน์ในการเรียนการสอนได้อย่างแท้จริง
น.ส.เบญจนารถ อมรประสิทธิ์ รองผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านลำมะโกรก จ.กำแพงเพชร มองคล้ายกันว่า ภาพรวมหลักเกณฑ์ใหม่มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย เพราะมุ่งให้เกิดผลสัมฤทธิ์ลงไปที่ตัวเด็ก หรือ
ผู้เรียนอย่างแท้จริง ให้ครูอยู่ในห้องเรียน นับชั่วโมงสอน ไม่ใช่ให้ครูทิ้งห้องเรียน เพื่อใช้เวลาในการทำวิทยฐานะ แต่หากจะให้เห็นผลจริงๆ ต้องอยู่ที่ขั้นตอนการปฏิบัติ ต้องรอดูผลการดำเนินการว่าจะส่งผลตามเป้าหมายหรือไม่ โดยเฉพาะในส่วนที่ให้ผู้บริหารเข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินผลการทำงานของครู ในแง่ดี ทำให้ครูตั้งใจทำงานมากขึ้น และผู้ที่จะประเมินได้ดีคือ ผู้อำนวยการโรงเรียน แต่หากผู้อำนวยการโรงเรียน และครู มีความขัดแย้งกัน ก็อาจทำให้เกิดการประเมินที่ไม่เป็นธรรมได้
ด้าน นางนภาพร รัตนบุรี ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนบ้านหนองหว้า (ชมายนุกูล) จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า เคยผ่านขั้นตอนการทำผลงานเพื่อขอมีและเลื่อนวิทยฐานะ มองว่าหลักเกณฑ์เดิมมีทั้งข้อดีข้อเสีย ส่วนตัวเองในขณะที่ทำผลงานทางวิชาการจะยึดประโยชน์เกิดขึ้นกับเด็กเป็นหลัก โดยศึกษาทั้งงานวิชาการ และเก็บข้อมูลเชิงลึกอย่างละเอียด และผลงานขอมีและเลื่อนวิทยฐานะก็สามารถนำมาใช้ปฏิบัติในการเรียนการสอนได้จริง ดังนั้นที่บอกว่าเกณฑ์เดิมทำให้ครูทิ้งห้องเรียนเพื่อทำผลงานวิชาการ จึงขึ้นอยู่กับส่วนบุคคลมากกว่า ขณะที่เกณฑ์ใหม่นั้น ภาพรวมเห็นด้วย เห็นผลดีจะเกิดขึ้นกับเด็กมากขึ้น มีชั่วโมงการสอนกำกับให้ครูทุ่มเทกับการทำงาน ขณะเดียวกันยังสนับสนุนส่งเสริมให้ครูพัฒนาตนเองตามความถัด ตรงนี้ถือเป็นข้อดี ทำให้ครูได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเรียนในสิ่งที่สนใจ
“ส่วนที่ให้ผู้อำนวยการโรงเรียนเข้ามามีส่วนในการประเมินการทำงานครูนั้น คิดว่าไม่เป็นปัญหา เพราะเกณฑ์เดิมการขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะ ก็ต้องให้ผู้อำนวยการเซ็นรับรองอยู่แล้ว การให้ผู้อำนวยการโรงเรียนเข้ามามีส่วนร่วมประเมินการทำงานของครูด้วย อาจส่งผลดีในแง่ของการทำงาน เพราะจะเป็นผู้ที่รู้ดีว่าครูคนไหนทำงานอย่างไร ทั้งนี้ ส่วนตัวไม่อยากให้ครูหรือผู้กำลังจะเข้ามาเป็นครูมีความกังวลเกี่ยวกับเกณฑ์วิทยฐานะใหม่นี้มากเกินไป แต่ควรจะเตรียมความพร้อมในเรื่องการสอน ที่สำคัญต้องมีคุณธรรมจริยธรรม ยึดมั่นในหน้าที่ครู เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนให้ดีที่สุด” นางนภาพรกล่าว
ต้องติดตามว่า การ ปฏิรูปครู ครั้งนี้จะช่วยยกระดับและพัฒนาวิชาชีพครูให้สูงขึ้นทั้งเชิงปริมาณ และคุณภาพได้จริงหรือไม่ และมากน้อยแค่ไหน
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก มติชนออนไลน์ วันที่ 10 กรกฎาคม 2560 - 14:45 น.