โพสต์โดย : Admin เมื่อ 12 พ.ค. 2560 12:43:18 น. เข้าชม 166504 ครั้ง
แม้จะมีการคลี่คลายปัญหาเป็นที่น่าพอใจแก่หลายฝ่าย หลังจากคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ยอมถอยเปิดช่องให้ “ผู้ไม่มีตั๋ว สอบบรรจุครูผู้ช่วย ได้ 25 สาขาวิชา” ที่ทางฝั่งผู้ใช้ (โรงเรียน) สะท้อนว่าขาดแคลนอย่างหนักและเป็นที่ต้องการสูง
ทว่า ยังอยู่ในกระแสอย่างต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา (มร.สส.) จัดเสวนา “ตั๋วครู :วิกฤตของวิชาชีพครูจริงหรือ” เพื่อหาทางออกของกระบวนการผลิตครู รศ.ดร.ฤาเดช เกิดวิชัย อธิการบดีมร.สส. กล่าวว่าปัจจุบัน วิชาชีพครูเป็นวิชาที่ใครหลายๆ คนใฝ่ฝัน กลับมาเป็นที่ยอมรับมากขึ้น เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างระบบราชการ ทำให้เป็นหน่วยงานบริหารจัดการด้วยตัวเอง ทำให้ไม่ มีเจ้านายเยอะ
อีกส่วน คือการปรับปรุงยกระดับคุณภาพชีวิต โครงสร้างเงินเดือน ทำให้อาชีพครู เป็นอาชีพที่หลายคนอยากเดินเข้ามา รวมถึงมีความแข่งแกร่งที่เพิ่มขึ้นของคุรุสภา ทำให้วิชาชีพมีความขลัง ศักดิ์สิทธิ เป็นวิชาชีพน่าภูมิใจ ทำงานมีความสุข
รศ.ดร.ฤาเดช เกิดวิชัย
“คนที่จะเข้าไปเป็นครูไม่ได้มีมิติด้านความรู้อย่างเดียว แต่ต้องมีมิติด้านอื่นๆ ตอนนี้กระบวนการผลิตครูได้คนดี คนเก่งเข้ามา แต่จะแสดงผลให้เห็นครูคุณภาพได้ ต้องรอเวลา”อธิการบดี มร.สส.กล่าว
รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ (CHES) กล่าวว่า โดยส่วนตัวสนับสนุนแนวคิดที่จะเปิดให้ผู้เรียนในสาขาอื่น มาเป็นครู เป็นการพลิกวิกฤตการขาดแคลนครูในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แต่ควรเปิดรับเฉพาะบางสาขา หรือปรับระบบ เพิ่มทางเลือก เช่น เปิดให้อาจารย์มหาวิทยาลัยมาช่วยสอนเด็กม.ปลาย เป็นต้น
รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์
ผู้ไม่ได้จบครู หรือจบครู ต่างต้องได้รับการฝึกฝนวิชาชีพ มาตรฐานครูอย่างเข้มงวด นายกมลเทพ ชังชูผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลปราโมชพัฒนา กล่าวว่า เขาไม่ได้จบครูมา แต่ต้องมาประกอบอาชีพครู ซึ่งตอนแรกเข้าใจว่าตนเองสามารถสอนได้
แต่พอผ่านไป 2 ปี ก็รู้ว่าเรามีความรู้แต่ไม่สามารถถ่ายทอดไปยังเด็ก ก็ต้องพัฒนาตนเอง จนตอนนี้เป็นครูมา 20ปี โรงเรียนเปิดรับคนที่จบสาขาอื่นมาเป็นครู แล้วให้เรียนต่อป.บัณฑิต เพื่อเรียนรู้วิธีการสอน สามารถคุมชั้นเรียนได้ และมีจิตวิทยา ซึ่งกว่าครูจะสอนได้ เด็กต้องเป็นแบบฝึกหัด ให้แก่ครูเหล่านี้
แต่ทั้งนี้ คนที่จบจากสาขาอื่น เช่น จบจากคณะวิทยาศาสตร์ เขามีความรู้รอบและก้าวทันการเปลี่ยนแปลงวิทยาการ แต่คนที่จบสายครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์เอง ก้าวไม่ทันเทคโนโลยี เพราะติดความรู้เดิม
“ผมไม่เชื่อว่า 25 สาขาที่เปิดให้ผู้จบสาขาอื่นมาเป็นครูนั้น เป็นสาขาที่ขาดแคลนทั้งหมด เพราะตอนนี้มีครูที่ค้างในระบบจำนวนมาก อีกทั้งการสอบบรรจุครู เป็นการสอบและจัดลำดับตามที่ต้องการ ซึ่งใครไม่ถึงลำดับก็ไม่ได้รับการบรรจุ ทั้งที่คนที่ไม่ถึงลำดับไม่ได้หมายความว่าเขาสอนไม่ได้ ซึ่งครูเหล่านั้นก็มาอยู่ในโรงเรียนเอกชน และเมื่อเราดูคะแนนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) กลับพบว่า คะแนนโอเน็ตเด็กโรงเรียนเอกชน สูงกว่าโรงเรียนสพฐ.
ขณะนี้ต้องมองภาพรวมของประเทศ อย่ามองเพียงว่าจบครู หรือไม่จบครูมาสอนเด็กดีหรือไม่ดี แต่ต้องมองว่าจะไปสอนใครด้วย เพราะเด็กแต่ละระดับต่างกัน และควรมองเรื่องคุณภาพการศึกษา
ผศ.ดร.รัฐกรณ์ คิดการ
ผศ.ดร.รัฐกรณ์ คิดการ ประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการครูแห่งประเทศไทย (ทปสท.) กล่าวว่า การจะให้ผู้ที่จบครูมาสอน หรือไม่จบครูมาสอน เมื่อเข้าสู่กระบวนการเรียนการสอนในชั้นเรียน ล้วนต้องพัฒนา มีวิธีการสอนที่เหมาะกับเด็ก และต้องใช้เวลา
“การศึกษาเป็นเรื่องการพัฒนาคน ต้องมีการคิดระบบ พัฒนา ต้องใช้เวลา ตอนนี้เราไปโทษคุณภาพสถาบันผลิตครู ทั้งที่ จริงๆ แล้วคุณภาพการศึกษาของไทยต่ำทุกสาขา ต่ำทั้งประเทศ และการตกต่ำของคนไทย ไม่ใช่เรื่องคุณภาพแต่เป็นเรื่อง คุณธรรม” ครูไม่ได้เป็นเพียงผู้ถ่ายทอดวิชา แต่เป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจ วันนี้ “ตั๋วครู” ยืนยันว่ามีความจำเป็น โดยเฉพาะครูระดับประถมศึกษา ที่สามารถการันตีได้ว่า สามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ ใช้หลักการต่างๆ ทั้งวิธีการสอน จิตวิทยา ในการสอนเด็ก
ผศ.ดร.สุรวาท ทองบุ
ผศ.ดร.สุรวาท ทองบุ คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม กล่าวว่าการปลดล็อค ผู้ที่จบสาขาอื่นมาเป็นครูได้ต้องผ่านการฝึกฝน วิธีการสอน แต่ไม่ใช่ให้มาเป็นครูได้ทันที เพราะผู้เรียนแตกต่างกัน วิธีสอน วิธีความรู้ต้องแตกต่างกันด้วย
“ทุกคนบอกว่า การศึกษาตกต่ำเพราะครู ซึ่งผมไม่เชื่อ เนื่องจากตอนนี้ครูทั้งประเทศ 75% ผลิตโดยหลักสูตรและระบบเดิม ครูใหม่ๆที่จบจากหลักสูตรใหม่ มีประมาณ 10-15% เท่านั้น หลักการของประเทศ คนเป็นครูต้องได้รับการรับรองมาตรฐาน และใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ”ผศ.ดร.สุรวาท กล่าว
ผศ.ดร.สุรวาท เสนอแนะแนวทางในการการผลิตครูตอบโจทย์ผู้ใช้ว่า หากต้องการคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริงรัฐบาล หรือกระทรวงศึกษาะการ กำหนดนโบายให้ชัดว่า ใช้ครู 1 คน ต่อนักเรียนกี่คน และต้องการครูสาขาไหน
ซึ่งถ้า คุรุสภากับ ก.ค.ศ. บอกว่าผลิตไม่เข้มข้น ต้องไปดูว่ามีช่องว่างอะไร ปัจจุบันมีสถาบันผลิตครู 200 แห่ง อยากเปิดก็เปิด คุรุสภายังไม่มีระบบควบคุมสถาบันผลิตที่เข้มข้นมากพอ และก.ค.ศ.เองต้องกำหนดมาตรฐานวิชาชีพ ไม่ใช่กำหนดรายวัน
ส่วนหน่วยงานผู้ใช้ครู ต้องมีแผนอย่างชัดเจน มีอัตราเกษียณอายุเท่าใด สาขาใด จำนวนเท่าใด และควรบอกล่วงหน้า แต่ตอนนี้ไม่มีการบอกชัดเจน เช่นเดียวกับสถาบันการผลิตครู ตอนนี้กำหนดทิศทางอย่างดีแล้ว
ทั้งการรับผู้เรียน การเลือกอาจารย์ การพัฒนาอาจารย์ การปรับปรุงสภาพแวดล้อมต้องสอดคล้องกับความต้องการทั้งปริมาณและคุณภาพ รวมทั้งจะใช้หลักสูตรครู 4 ปีหรือ 5 ปี ก็ได้ทั้งนั้น แต่ขอให้มีการฝึกฝน สร้างมาตรฐานการเรียนการสอน เพราะการเรียนครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์ ได้คนที่เรียนครูโดยตรงมาเป็นครูจะดีกว่า มีความมั่นใจ และประกันได้ว่าเป็นครูที่ดีกว่า
ที่มา http://www.komchadluek.net/news/edu-health/268760