โพสต์โดย : Admin เมื่อ 24 เม.ย. 2560 12:17:11 น. เข้าชม 166427 ครั้ง
จากกรณีที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) จะประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีหรือเลื่อนวิทยฐานะตามหลักเกณฑ์ใหม่วันที่ 5 ก.ค.นี้ โดยกำหนดให้ครูต้องมีภาระงาน 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ รวม 800 ชั่วโมงต่อปี ต้องเป็นผู้มีวินัย คุณธรรม จริยธรรม ผ่านการอบรมและพัฒนาตามหลักสูตรที่ ก.ค.ศ.กำหนดนั้น ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ส่วนตัวเห็นด้วยที่ปรับปรุงเกณฑ์ แต่ควรรับฟังความคิดเห็นครูและผู้บริหารให้มากกว่านี้ ไม่ควรเร่งรีบประกาศใช้ หากไม่รอบคอบจะเกิดข้อผิดพลาดได้ เกณฑ์ใหม่ที่กำหนดให้ครูอยู่ในห้องเรียน 20 ชม.ต่อสัปดาห์เป็นสิ่งที่ดี แต่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต้องลดภาระอื่นๆของครูที่นอกเหนือจากการสอน และน่าจะรวมชั่วโมงกิจกรรมนอกห้องเรียน นโยบายลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ และไม่ควรใช้เกณฑ์เดียวกันกับครูทุกระดับชั้น เพราะครูมัธยมอาจมีปัญหาชั่วโมงสอนไม่ครบ ส่วนที่ให้ครูรับการอบรมโดยมีคูปองคนละ 10,000 บาทเป็นเรื่องน่าห่วง เพราะจะมีธุรกิจการอบรมเกิดขึ้นมากมาย ทำให้เกิดวัฒนธรรมตามหาประกาศนียบัตรเพื่อให้ผ่านเกณฑ์ อาจจะนำไปสู่การทุจริตเหมือนกรณี ป.บัณฑิต
“ศธ.ควรประเมินผลการประเมินวิทยฐานะครูที่ผ่านมาว่าได้ผลดีผลเสียมากน้อยเพียงใด ไม่ใช่เปลี่ยนทันที รวมทั้งเกณฑ์ใหม่มีอะไรรับประกันว่าจะทำให้เด็กได้รับประโยชน์ อยากให้ รมว.ศธ.ใจเย็นๆ รับฟังครูและผู้บริหารให้มากกว่านี้ ที่สำคัญหากเกณฑ์ใหม่ทำให้ครูเปลี่ยนพฤติกรรมการสอนตามที่ ศธ.ตั้งเป้า ก็จะเชื่อมโยงกับการปฏิรูปการศึกษาที่ส่งผลดีต่อเด็กโดยตรง” ศ.ดร.สมพงษ์กล่าว.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก ไทยรัฐ วันที่ 22 เม.ย. 2560