โพสต์โดย : Admin เมื่อ 27 ก.พ. 2560 14:20:25 น. เข้าชม 166445 ครั้ง
ศธ.เตรียมพร้อมจัดอนุบาล 3 ขวบ รองรับรัฐธรรมนูญใหม่ ย้ำหน่วยงานที่จัดการศึกษาปฐมวัยอยู่แล้ว ต้องช่วยกันรับเด็กเข้าเรียนให้มากขึ้น เพราะสพฐ.จะไม่เปิดห้องเรียนเพิ่ม เน้นบริหารจัดการที่มีอยู่ให้เพียงพอ
วันนี้( 27 ก.พ.) ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) กล่าวว่า ตามที่ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับใหม่ กำหนดให้รัฐจัดการศึกษาฟรีตั้งแต่ระดับปฐมวัย อนุบาล 3 ปี นั้น ศูนย์เทคโนโลยีและการสื่อสาร สำนักงานปลัด ศธ. ได้รวบรวมข้อมูลนักเรียนระดับก่อนประถมศึกษาทั้งในระบบโรงเรียน นอกระบบโรงเรียน จำแนกตามสังกัด ในปีการศึกษา 2559 พบว่า จากเด็กอายุ 3 ขวบทั้งประเทศประมาณ 780,000 คน เรียนระดับอนุบาล 1 หรือ อนุบาล3 ขวบ จำนวน 251,192 คน คิดเป็น 32% โดยหน่วยงานในสังกัด ศธ.จัดมากที่สุด คือ191,137 คน คิดเป็น 76.09% แบ่งเป็น สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) 188,344 คน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 1,536 คน และ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(โรงเรียนสาธิต) 1,257 คน สังกัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) 60,055 คน คิดเป็น 23.91% แบ่งเป็น โรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 59,311 คน โรงเรียนสังกัดเมืองพัทยา 744 คน ส่วนกรุงเทพมหานครไม่พบข้อมูล
ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าวต่อไปว่า จากข้อมูลดังกล่าว พบว่า ยังมีเด็กอายุ 3 ขวบ ที่ไม่เข้าสู่ระบบการศึกษา 528,808 คน ซึ่งหน่วยงานที่จัดการศึกษาระดับปฐมวัยอยู่แล้ว ต้องช่วยกันรับเด็กเข้าเรียนเพิ่มขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยการรับเด็กเพิ่มนั้น ในส่วน สพฐ.จะไม่มีการเปิดห้องเรียนเพิ่ม ให้ใช้วิธีการบริหารจัดการห้องเรียนที่มีอยู่ให้เพียงพอ และไม่เน้นการจ้างครูเพิ่ม ให้ใช้วิธีการเกลี่ยครูที่มีอยู่ ซึ่งสามารถทำได้เพราะขณะนี้มีจำนวนเด็กในภาพรวมของประเทศลดลง ดังนั้น สิ่งที่ สพฐ.จะต้องทำต่อไป คือ การรับครูใหม่ ต้องเน้นครูที่จบสาขาปฐมวัยให้มากขึ้น รวมถึงพัฒนาครูเดิมให้มีศักยภาพในการสอนตรงตามวัตถุประสงค์
“ช่วงนี้เป็นการเตรียมพร้อม หากรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้จะต้องเริ่มดำเนินการทันที โดยรัฐต้องจัดสรรงบฯเพิ่มอีกปีละประมาณ 1,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายรายหัว 1,700 บาทต่อคนต่อปี อย่างไรก็ตามเท่าที่หารือกับผู้บริหารโรงเรียนเอกชน ส่วนใหญ่เห็นด้วยในภาพรวม แต่ขอให้มีการแบ่งการรับเด็กตามเขตพื้นที่บริการให้ชัดเจน และขอให้สพฐ.ไม่จัดระดับอนุบาล 3 ขวบในพื้นที่ที่ทับซ้อนกับ สช.และ อปท. ซึ่งผมคิดว่าไม่มีปัญหา เพราะโรงเรียนเอกชนและอปท.ส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตเมือง หรือ เทศบาล ขณะที่ สพฐ.เน้นจัดการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสให้แก่เด็กชนบท”ปลัด ศธ.กล่าว.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 09.04 น.
ด้านมติชนออนไลน์ ได้นำเสนอข่าวนี้ โดยมีหัวข้อข่าวและเนื้อหาข่าว ดังนี้
ห้าม สพฐ.จัด ‘อนุบาล 3 ขวบ’ ทับซ้อน บิ๊กเอกชนจี้ ศธ.แบ่งโซน ‘สช.-อปท.’ ชัด
เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กำหนดให้รัฐจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัย อนุบาล 3 ปีนั้น ได้มอบหมายให้ศูนย์เทคโนโลยีและการสื่อสาร สำนักงานปลัด ศธ.รวบรวมข้อมูลนักเรียนระดับก่อนประถมศึกษาทั้งในระบบโรงเรียน และนอกระบบโรงเรียน จำแนกตามสังกัด และชั้น ปีการศึกษา 2559 พบว่า มีนักเรียนระดับอนุบาล 1 หรืออนุบาล 3 ขวบ จำนวน 251,192 คน คิดเป็น 32% ของเด็กอายุ 3 ขวบทั้งหมดประมาณ 780,000 คน โดยพบว่าหน่วยงานในสังกัด ศธ.จัดการศึกษาระดับอนุบาล 3 ขวบ มากที่สุด 191,137 คน คิดเป็น 76.09% ของจำนวนนักเรียนระดับอนุบาล 3 ขวบทั้งหมด แบ่งเป็น สังกัดสำนักงานคณะกรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) 188,344 คน คิดเป็น 74.98% สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 1,536 คน คิดเป็น 0.61% และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (โรงเรียนสาธิต) 1,257 คน คิดเป็น 0.05%, สังกัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) 60,055 คน คิดเป็น 23.91% แบ่งเป็น โรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 59,311 คน คิดเป็น 23.61% และโรงเรียนสังกัดเมืองพัทยา 744 คน คิดเป็น 0.30% และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ไม่พบข้อมูลการจัดการศึกษาระดับอนุบาล 3 ขวบ
นายชัยพฤกษ์กล่าวต่อว่า จากข้อมูลดังกล่าวจะพบว่ายังมีเด็กอายุ 3 ขวบ ที่ยังไม่เข้าสู่ระบบการศึกษาอีกประมาณ 528,808 คน ซึ่งหน่วยงานที่จัดการศึกษาระดับปฐมวัยอยู่แล้ว จะต้องช่วยกันรับเด็กเข้าเรียนเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญ โดยในส่วน สพฐ.จะไม่เปิดห้องเรียนเพิ่ม ให้ใช้วิธีการบริหารจัดการห้องเรียนที่มีอยู่ให้เพียงพอต่อการรับเด็กเข้าเรียน และไม่เน้นการจ้างครูเพิ่ม โดยให้ใช้วิธีการเกลี่ยครูที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ดังนั้น สิ่งที่ สพฐ.จะต้องทำต่อไปคือ การรับครูใหม่ ต้องเน้นครูที่จบสาขาปฐมวัยให้มากขึ้น รวมถึง พัฒนาครูเดิมให้มีศักยภาพในการสอนตรงตามวัตถุประสงค์ โดย ศธ.จะกำหนดหลักสูตรแกนกลางที่ใช้ร่วมกันทุกสังกัด เพื่อรับประกันให้ได้ว่าการจัดการศึกษาระดับปฐมวัยจะได้มาตรฐานเดียวกันทั้งระบบ
“ช่วงนี้ถือเป็นการเตรียมพร้อม หากรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ จะต้องเริ่มดำเนินการทันที โดยรัฐบาลจะต้องจัดสรรงบประมาณเพิ่มอีกปีละประมาณ 1,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายรายหัว 1,700 บาทต่อคนต่อปี อย่างไรก็ตาม เท่าที่พูดคุยกับผู้บริหารโรงเรียนเอกชน ส่วนใหญ่เห็นด้วยในภาพรวม แต่ขอให้แบ่งการรับเด็กตามเขตพื้นที่บริการให้ชัดเจน และขอให้ สพฐ.ไม่จัดการศึกษาระดับอนุบาล 3 ขวบในพื้นที่ที่ทับซ้อนกับ สช.และ อปท.ซึ่งผมคิดว่าไม่มีปัญหา เพราะโรงเรียนเอกชน และ อปท.ส่วนใหญ่อยู่ในเขตเมือง หรือเทศบาล ขณะที่ สพฐ.เน้นจัดการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสให้กับเด็กชนบท ทั้งนี้ นโยบาย ศธ.เด็กทุกคนต้องมีที่เรียน สำหรับเด็กเล็กขอให้เน้นเรียนโรงเรียนใกล้บ้าน เพื่อความสะดวก และให้ผู้ปกครองสามารถดูแลได้ใกล้ชิด” นายชัยพฤกษ์ กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก มติชนออนไลน์ วันที่: 27 ก.พ. 60 เวลา: 15:57 น