โพสต์โดย : Admin เมื่อ 19 ธ.ค. 2559 07:02:49 น. เข้าชม 166407 ครั้ง
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของศธ. เมื่อเร็วๆ นี้ มีข้อเสนอให้ตัดวิชาสังคมศึกษาออกจากการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐานหรือโอเน็ต ซึ่งจัดสอบโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(สทศ.)แล้วแยกให้โรงเรียนเป็นผู้ประเมินวิชาดังกล่าวเอง เนื่องจากในการสอบโอเน็ตเกือบทุกปี สทศ.จะถูกต่อว่าว่าข้อสอบและเฉลยคำตอบมีความกำกวม ไม่ตรงประเด็นรวมถึงอาจไม่สามารถวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กได้ตรงตามเนื้อหาสาระการเรียนรู้ ดังนั้นที่ประชุมจึงได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)และสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(สป.ศธ.)ไปวางระบบประเมินที่ได้มาตรฐาน มีความธรรมและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย รวมถึงจะต้องประเมินให้ได้ว่าเด็กเรียนวิชานี้แล้วได้ผลตามที่ต้องการหรือไม่
รัฐมนตรีว่าการศธ. กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามที่ประชุมเห็นว่ายังไม่ควรยกเลิกการจัดสอบวิชาสังคมศึกษาในปีการศึกษา 2559 ทันที เพราะห่วงว่าเมื่อไม่มีการประเมินแล้วเด็กจะไม่ตั้งใจเรียน แต่คิดว่าจะมีความชัดเจนภายในกลางปีการศึกษา 2560 ซึ่งหากสพฐ.และสป.ศธ. ทำให้ตนมั่นใจว่าว่าระบบประเมินที่ออกแบบมามีคุณภาพ และได้มาตรฐาน ตนก็พร้อมเสนอไปยังสทศ.ให้ยกเลิกการสอบวิชาดังกล่าวทันที ทั้งนี้นอกจากมีแนวคิดให้โรงเรียนเป็นผู้ประเมินวิชาสังคมศึกษาเองแล้ว ยังอยากให้ดูแนวทางการประเมินวิชาสุขศึกษาและพลศึกษา วิชาศิลปะ และวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยีซึ่งทั้ง 3 วิชาได้ตัดออกจากการสอบโอเน็ตไปเมื่อปี 2558 ตนอยากให้การประเมินได้มาตรฐานเดียวกันทั้งหมดด้วย ทั้งนี้การจะมาเปลี่ยนให้โรงเรียนประเมินเอง ต้องวางระบบให้พร้อม โดยข้อสอบจะต้องวัดได้ทั้งในส่วนของความจำและส่วนของการคิดวิเคราะห์ รวมถึงครูจะต้องติดตามประเมินพฤติกรรมเด็กจากการเรียนในห้องเรียนด้วย
“ขณะเดียวกัน ยังมีข้อเสนอว่าต่อไปควรให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนในวิชาต่าง ๆ เป็นผู้ออกข้อสอบเอง โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ที่สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เป็นผู้จัดทำหลักสูตร เพื่อแก้ปัญหาออกข้อสอบให้ตรงกับหลักสูตรการเรียนการสอน และสอดคล้องกับการประเมิน ไม่ใช่สอนม้า ออกลิงอย่างที่คนเขาว่ากัน เรื่องนี้ศธ.พยายามแก้ไขมาโดยตลอด ส่วนสทศ.ให้ทำหน้าที่จัดสอบ ตรวจกระดาษคำตอบและดูแลระบบป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตหรือข้อสอบรั่วเท่านั้น” นพ.ธีระเกียรติกล่าว
ขอบคุณที่มาจาก มติชนออนไลน์ 19 ธ.ค. 59
ขอบคุณ เว็บไซต์ครูบ้านนอกดอทคอม