โพสต์โดย : Admin เมื่อ 6 ก.พ. 2560 03:16:40 น. เข้าชม 166507 ครั้ง
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การที่รัฐบาลประกาศเดินหน้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 เป็นการพัฒนาสู่ยุคดิจิทัลที่เน้นแต่เศรษฐกิจและเรื่องตนเอง ขณะที่อีกด้านก็สอนให้คนยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้สับสนในแนวทางที่ย้อนแย้ง แวดวงการศึกษาซึ่งกำลังขับเคลื่อนการศึกษา 4.0 ผลิตบุคลากรรองรับไทยแลนด์ 4.0 จึงต้องออกแบบให้ดี มีความชัดเจน เพราะการศึกษาไทยเวลานี้อยู่แค่ 2.0 แม้จะมีการปฏิรูปแต่ปฏิรูปเป็นเรื่องๆ องค์รวมไม่ได้ขยับ หากจะพัฒนาสู่การศึกษา 4.0 ต้องปรับครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการผลิตครูรุ่นใหม่ที่ต้องเปลี่ยน mindset หรือกระบวนการทางความคิด ต้องสอนให้เด็กรู้จักคิดวิเคราะห์ ตั้งคำถามเป็น นำไปสู่การผลิตผลงาน สำหรับนโยบายการศึกษาของ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ตนมองว่าค่อนข้างแปลกและนำเข้าจากประเทศอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ จึงดูเหมือนประเทศไทยเป็นตัวทดลองนวัตกรรม ใครคิดเห็นต่างก็มองว่าไม่สนองนโยบาย เป็นหลักคิดที่ผิด การปฏิรูปการศึกษาต้องปฏิรูปองค์รวมที่จริงจัง ไม่ใช่เฉพาะด้าน
“หากจะปฏิรูปการศึกษาคงต้องยุบกระทรวงศึกษาธิการอันดับแรก เพราะคนในกระทรวงศึกษาฯคิดนอกกรอบไม่เป็น ได้แต่สนองนโยบาย ขณะที่นโยบายก็เปลี่ยนตามหัวขบวนที่ปรับไปเรื่อย นโยบายที่เกิดขึ้นจึงเป็นประเภทไร่เลื่อนลอย” ศ.ดร.สมพงษ์กล่าว.
ขอบคุณที่มาจาก ไทยรัฐ 6 ก.พ.2560