โพสต์โดย : Admin เมื่อ 16 ก.ค. 2564 11:50:24 น. เข้าชม 166421 ครั้ง
นายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ.มอบหมายให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา เมื่อเร็วๆ นี้ ได้หารือร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตัวแทนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยได้นำแนวทางที่คณะทำงานชุดก่อนเคยวางไว้มาประกอบการพิจารณา และวิเคราะห์หาทางออกในการแก้ปัญหาหนี้ครู
“เบื้องต้นได้แนวทางแก้ไขปัญหามา 4 แนวทาง คือ 1.ต้องหามาตรการลดเงินต้นให้ครู 2.ต้องหามาตรการลดดอกเบี้ยให้ครู 3.ทำอย่างไรให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา เสียดอกเบี้ยทำประกันชีวิตที่ผูกกับเงินกู้น้อยลง เพราะสร้างภาระให้ครูอย่างมาก ทั้งที่ถือเป็นลูกค้าชั้นดี ดังนั้น ต้องหาทางช่วยลดภาระในส่วนนี้ให้ได้ด้วย และ 4.การวางแผนป้องกันระยะยาวให้ครูที่กู้เงิน เช่น อาจมีคณะทำงานดูแลให้ความคิดเห็นว่าครูมีความสามารถที่จะกู้เงินต่อได้หรือไม่ พร้อมกับสร้างหลักสูตรให้ความรู้ สร้างทักษะชีวิตให้กับครูที่บรรจุใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้ครูบรรจุใหม่เหล่านี้มีปัญหาหนี้สินในอนาคต” นายสุทธิชัย กล่าว
นายสุทธิชัยกล่าวต่อว่า จากการหารือร่วมกัน พบว่ากรมส่งเสริมสหกรณ์ ตัวแทน ธปท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เห็นด้วยกับแนวทางที่วางไว้ ทั้งนี้ ต้องนำ 4 แนวทางที่วางไว้ ไปวิเคราะห์ ดูรายละเอียดในข้อกฎหมาย และหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่าแนวทางที่วางไว้สามารถไปนำไปปฏิบัติได้จริงหรือไม่ นำไปปฏิบัติได้มากน้อยแค่ไหน และจะผลักดันให้เห็นผลเป็นรูปธรรมได้อย่างไร เช่น การลดดอกเบี้ย ศธ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหารือสถาบันการเงิน ว่าจะถลดดอกเบี้ยได้หรือไม่ เป็นต้น ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้นายสุทิน แก้วพนา รองปลัด ศธ.ไปรวบรวม และจัดทำข้อสรุปจากที่ได้หารือกันมา เพื่อเสนอให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พิจารณาภายในสัปดาห์นี้
“ผมไม่หนักใจที่ได้รับมอบหมายให้แก้ไขปัญหาหนี้สินครู เพราะมองว่าการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ต้องมีความจริงใจ จริงจัง ซึ่งผม และคณะทำงาน มีความจริงใจ และจริงจังกับการแก้ไขปัญหานี้มาก ส่วนทำแล้วจะผลักดันไปได้มากน้อยแค่ไหน อย่างน้อยได้เป็นจุดเริ่มต้นให้คนอื่นสานต่อไปในอนาคตได้ แต่ในยุคของเราต้องหาทางแก้ไขปัญหาให้ได้มากที่สุด” นายสุทธิชัย กล่าว
ด้านนายสมบัติ นพรัก คณบดีวิทยาลัยการศึกษา มหาวิทยาลัยพะเยา และประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) กล่าวว่า ศธ.ต้องนำบทเรียนของครูที่เป็นหนี้มาให้ครูบรรจุใหม่ที่ยังไม่เป็นหนี้ หรือมีหนี้น้อย มาปรับวิธีการใช้เงิน ควรสร้างภูมิคุ้มกันให้ครูบรรจุใหม่ที่ยังไม่มีหนี้ หรือมีหนี้น้อย ให้สามารถวางแผนการใช้เงินได้ โดย สพฐ.อาจจะกำหนดนโยบายให้แต่ละเขตพื้นที่การศึกษา อบรมให้ความรู้ครูเรื่องการใช้เงิน เป็นต้น
“การเลื่อนขั้นเงินเดือนของข้าราชการควรปรับเปลี่ยน เดิมเป็นการเลื่อนขั้นเงินเดือนรูปแบบสูงชัน คือเริ่มจาก 15,000 บาท ไต่ระดับขึ้นไปถึงเงินเดือนสูงสุด ที่จะได้ประมาณ 76,800 บาท ซึ่งการเลื่อนเงินเดือนรูปแบบนี้ สร้างความลำบากให้ครูอย่างมาก ควรปรับระบบเลื่อนขั้นเงินเดือนใหม่ เพื่อให้ครูดำรงชีวิตอยู่ได้ตั้งแต่แรกเริ่มทำอาชีพครู เช่น อาจเริ่มให้ครูได้เงินเดือนเริ่มต้น 25,000 บาท เพื่อให้ครูบริหารจัดการ และดำรงชีวิตอยู่ได้ เพราะภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน จะห้ามครูกู้ก็ไม่ได้ เพราะได้รับเงินเดือนเพียง 15,000 บาทเท่านั้น” นายสมบัติ กล่าว