เครื่องมือค้นหา
หน้าแรก » ข่าวการศึกษา » ปลัด ศธ.เปิดเผยประเด็นข้อเรียกร้องให้นำ Tablet PC มาใช้ในระบบการศึกษาของไทย ในช่วงโควิด 19

ปลัด ศธ.เปิดเผยประเด็นข้อเรียกร้องให้นำ Tablet PC มาใช้ในระบบการศึกษาของไทย ในช่วงโควิด 19

โพสต์โดย : Admin เมื่อ 10 ก.ค. 2564 11:31:29 น. เข้าชม 166520 ครั้ง

 รับทำเว็บโรงเรียน 5900 ใช้งานได้เลย GED  |   IELTS  |   สอบ IELTS  |   สอบ TOEIC  |   CU-BEST  |   CU-TEP  |  
ปลัด ศธ.เปิดเผยประเด็นข้อเรียกร้องให้นำ Tablet PC มาใช้ในระบบการศึกษาของไทย ในช่วงโควิด 19
แจกฟรีโปรแกรมจัดตารางเรียน แจกฟรีโปรแกรมเช็คชื่อ บันทึกความดี

ดูในรายการ : ข่าวการศึกษา ทั้งหมด

กดติดตาม Facebook และ YouTube ห้องพักครูเพื่อเป็นกำลังใจ
ปลัด ศธ.เปิดเผยประเด็นข้อเรียกร้องให้นำ Tablet PC มาใช้ในระบบการศึกษาของไทย ในช่วงโควิด 19
(6 กรกฎาคม 2564) นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยประเด็นข้อเรียกร้องให้นำ Tablet PC มาใช้ในระบบการศึกษาของไทย ในช่วงสถานการณ์โควิด 19

“สืบเนื่องจากกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสข้อความระบุถึงการศึกษาไทย ว่าช่วงสถานการณ์โควิด 19 การปรับตัวเพื่อเรียนออนไลน์ มีความจำเป็นเพื่อความปลอดภัยจากการติดเชื้อ และให้การเรียนการสอนดำเนินไปได้โดยไม่ติดขัด Tablet PC จึงเป็นอุปกรณ์ทางเลือกที่พัฒนาให้นักเรียนรู้จักแสวงหาความรู้ และแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง พร้อมกับปรับบทบาทครูเป็นผู้อำนวยการสอนเท่านั้น จึงหวังว่ารัฐบาลจะนำนโยบาย Tablet PC และการเรียนออนไลน์ เข้ามาใช้ในสถานศึกษาอย่างจริงจัง และลงทุนให้ทุกโรงเรียนของรัฐมีอุปกรณ์การเรียนการสอน ทั้งครูผู้สอนและนักเรียน”

ปลัด ศธ. กล่าวว่า ​Tablet PC ได้จัดซื้อให้กับนักเรียนชั้น ป.1 ครั้งแรกในปี 2555 จำนวน 8 แสนเครื่องเศษ โดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นผู้จัดซื้อให้ ซึ่งได้จัดซื้อจากบริษัทของประเทศจีนโดยตรง ในปี 2556 ได้จัดซื้อครั้งที่ 2 สำหรับนักเรียน ป.1 และ ม.1 ทั้งประเทศ จำนวน 1 แสน 6 หมื่นเศษ โดยใช้วิธีการจัดซื้อแบบ e-Bidding ภายในประเทศไทย และในปี 2557 ได้มีการประเมินผลการใช้ Tablet PC ในการจัดการเรียนการสอนของนักเรียน โดยมีผลสรุปพอสังเขป ดังนี้

  • Tablet PC มีประโยชน์ต่อการจัดการเรียนรู้ของนักเรียน
  • นักเรียนและครู มีความพึงพอใจสูงในการใช้ Tablet PC ในการเรียนการสอน
  • Tablet PC ตอบสนองการเรียนรู้ของนักเรียนที่มีความแตกต่างของบุคคลด้านความพร้อมทางสติปัญญา
  • ผลการตอบรับภาพรวมในระดับโรงเรียนเห็นควรดำเนินโครงการ Tablet PC ต่อเนื่อง

สภาพปัญหาการใช้งาน

จนถึงปัจจุบันพบว่า Tablet PC ยังมีจุดที่ต้องได้รับการพัฒนาหลายส่วน คือ

  • สเป็ก Tablet PC ในสมัยนั้นค่อนข้างต่ำ การทำงานช้า และอายุการใช้งานสั้น ปัจจุบันผ่านมา 8 ปี หมดอายุการใช้งาน ไม่สามารถรองรับแอปพลิเคชันในปัจจุบัน
  • สื่อ Application มีน้อย ไม่เพียงพอในการจัดการเรียนรู้ของนักเรียน
  • ระบบปฏิบัติการ (OS) มีข้อจำกัดในการรองรับสื่ออิเล็กทรอนิกส์รูปแบบต่าง ๆ
  • มีพื้นที่จัดเก็บข้อมูลจำกัด หรือจำนวนน้อยไม่เพียงพอต่อการใช้งาน
  • สัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่เพียงพอสำหรับการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์

ข้อเสนอสำหรับการจัดหา Tablet PC

  • งานวิจัยของ มศว ประสานมิตร เมื่อปี 2555 พบว่า Tablet PC เหมาะสมสำหรับนักเรียนระดับชั้น ป.4 ขึ้นไป กรณีจะจัดหา Tablet PC ให้กับนักเรียนในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด 19 เห็นควรจัดหาให้ระดับมัธยมศึกษาก่อนเป็นลำดับแรก เนื่องจากนักเรียนกลุ่มนี้ใช้รูปแบบการเรียนการสอนออนไลน์อยู่เดิมแล้ว ในส่วนของระดับประถมศึกษายังมีการใช้รูปแบบการเรียนการสอนที่หลากหลาย ได้แก่ On-AIR On–Hand On-Demand นอกจากนี้ ยังมีรูปแบบการจัดการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) ที่มาช่วยสนับสนุนการเรียนรู้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เนื่องจากมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นผู้รับผิดชอบโครงการนี้ โดยเนื้อหาปัจจุบันนำเสนอในรูปแบบ New DLTV สามารถเข้าเรียนเมื่อใดก็ได้ เรียนล่วงหน้า ย้อนหลังได้ ผ่านเว็บไซต์ http://www.dltv.ac.th หรือผ่าน แอปพลิเคชัน DLTV จึงเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เพียงพอสำหรับนักเรียนในระดับประถมศึกษา
  • กลุ่มเป้าหมาย ควรเป็นนักเรียนมัธยมศึกษาที่ด้อยโอกาสขาดแคลนอุปกรณ์ในการเรียน เช่น นักเรียนในกองทุน กสศ.
  • สเป็กของ Tablet PC ควรเป็นคุณลักษณะที่ใช้งานได้จริงในปัจจุบันรองรับสื่อแอปพลิเคชันได้ทุกประเภท
  • การจัดหา ควรใช้วิธีการเช่า ไม่ควรจัดซื้อ เพราะสามารถใช้งบดำเนินการสำหรับบริหารจัดการได้เลย เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 คลี่คลาย อาจจะไม่ต้องเช่าต่อก็ได้

ความทุกข์ของผู้ปกครองและเด็ก จากการเรียนผ่านออนไลน์

สังคมโดยรวม ช่วงนี้เวลาที่ครอบครัวที่มีลูกส่วนใหญ่จะเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเรียนออนไลน์ในช่วงวิกฤติโควิด 19 พ่อแม่ก็จะบ่นมากหน่อย มีลูกหลากหลายวัย ปัญหาก็จะแตกต่างกันไปในรายละเอียด ถ้าลูกเล็กก็จะบ่นมากเป็นพิเศษ เพราะแทบจะต้องอยู่กับลูกที่บ้านและเรียนไปพร้อมกับลูก ถ้าพ่อแม่ทำงานด้วยก็จะมีรายละเอียดของปัญหามากขึ้นไปอีก ส่วนพ่อแม่ที่มีลูกโตก็มีปัญหาไม่น้อยเหมือนกัน ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องงานเยอะ การบ้านเยอะ ทำเท่าไหร่ก็ไม่หมด

ในขณะที่เด็กระดับมหาวิทยาลัย ก็จะออกแนวอยากกลับไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเสียที ส่วน ครู-อาจารย์ในทุกระดับ ครูระดับเด็กเล็ก เด็กโต เด็กมหาวิทยาลัย ต่างก็มีปัญหาที่แตกต่างกันไป แต่สิ่งหนึ่งที่พูดตรงกันก็คือ การสอนออนไลน์ทำให้แบกภาระหนักขึ้น ต้องเตรียมตัว และหาวิธีการต่าง ๆ รวมถึงเทคนิคการสอนต่าง ๆ เพื่อจูงใจให้เด็กเรียนด้วย แล้วไหนจะต้องคิดถึงวิธีการประเมินผลอีกต่างหาก อยากกลับไปสอนในสถาบันการศึกษามากกว่าสอนทางออนไลน์ ทั้งยังมีคุณครูจำนวนมากและโรงเรียนหลายแห่งไม่ได้มีความพร้อมด้านอุปกรณ์หรือทักษะทางดิจิทัล ครูหลายคนใช้โปรแกรมเช่น Google Classroom, Zoom หรือ Teams ไม่คล่อง ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ และเมื่อได้พูดคุยด้วยกับเด็กหลากหลายวัย ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าอยากกลับไปเรียนที่โรงเรียน ไม่อยากเรียนผ่านออนไลน์ด้วยสารพัดเหตุผล เช่น เรียนยากขึ้น เรียนไม่รู้เรื่อง งานเยอะ เรียนได้แย่ลง อยากเจอเพื่อน อยากทำกิจกรรม

สรุปก็คือ ไม่ว่าจะมีโอกาสได้พูดคุยกับใคร ทุกคนล้วนแล้วไม่อยากอยู่ในสภาพต้องเรียนออนไลน์

งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน เรื่อง ผลกระทบของการเรียนออนไลน์ ในผู้ปกครองชาวอเมริกัน 405 คน ที่มีลูกอย่างน้อย 1 คนอายุต่ำกว่า 12 ปี และครึ่งหนึ่งของผู้ปกครองมีลูกอายุระหว่าง 2-5 ปี พบว่า 40% ของผู้ปกครองรู้สึกเครียดจากการที่ลูกต้องเรียนออนไลน์ โดย 25% ให้ข้อมูลว่า บ้านมีอุปกรณ์หรือสภาพไม่พร้อมต่อการเรียนออนไลน์

ในขณะที่ผลสำรวจของ Washington Post จากผู้ปกครองที่มีลูกต้องเรียนออนไลน์ 60 คน พบว่าลูกตัวเองเครียดขึ้น ก้าวร้าวขึ้น เบื่ออาหาร บ่นปวดหลัง มีปัญหาเจ็บตาหรือตาอ่อนล้า

ส่วนงานวิจัยในประเทศจีน สำรวจนักเรียนในมณฑลหูเป่ย ที่อยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์ตั้งแต่ต้นปี 2563 โดยเก็บข้อมูลนักเรียนเกรด 2 ถึง 6 จำนวน 2,330 คน ระหว่าง 28 ก.พ.-5 มี.ค. 2563 พบว่ามีนักเรียนมากถึง 40% ที่เผชิญความเครียดและวิตกกังวล

สอดคล้องกับประเทศไทย ที่ล่าสุดมีนักเรียนและนักศึกษาจำนวนมากเครียดจากการเรียนออนไลน์ เพราะไม่สามารถปรับตัวได้ ทำให้เกิดความทุกข์ และมีบางคนที่สุดท้ายก็นำไปสู่โศกนาฏกรรม

ช่วงของสถานการณ์วิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้เกิดการปรับตัวเป็นชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) โดยเฉพาะสถาบันทางการศึกษาที่ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนแบบปกติได้ จึงจำเป็นต้องใช้รูปแบบการเรียนการสอนแบบออนไลน์ เพื่อให้การเรียนรู้ต่อเนื่องการเรียนการสอนแบบออนไลน์มีองค์ประกอบ ได้แก่ ผู้สอน ผู้เรียน เนื้อหา สื่อการเรียนการสอน แหล่งเรียนรู้ กระบวนการจัดการเรียนรู้ รูปแบบการเรียนการสอน ระบบการติดต่อสื่อสาร ระบบเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ การวัดและการประเมินผล และเมื่อการเรียนออนไลน์มีบทสรุปเหมือนกับการเรียนปกติ ก็คือ ตัดสินกันที่การวัดและประเมินผลแบบเดิม ซึ่งกลายเป็นเรื่องหนักหน่วงของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวเด็ก มีเด็กจำนวนมากที่ไม่ใช่ทุกข์ใจแค่การเรียนออนไลน์ การทำงานที่มากขึ้น แต่การสอบกลายเป็นเรื่องหนักสุด สืบเนื่องจากผลพวงเรื่องประสิทธิภาพในการเรียนออนไลน์ที่เด็กส่วนใหญ่อยากเรียนที่สถาบันการศึกษามากกว่า เด็กจำนวนมากถอดใจยอมถอยจากระบบ ออกจากโรงเรียนกลางคัน ในขณะที่ระดับมหาวิทยาลัยก็ดร็อปไว้ก่อน

นักเรียนในสิงคโปร์ต้องกลับไปเรียนออนไลน์นาน 10 วันในช่วงปลายเดือน พ.ค. เพื่อที่จะรักษาระยะห่างระหว่างคน เด็กหลายล้านคนทั่วโลกต้องเรียนหนังสือจากบ้าน เพราะเกือบทุกประเทศกำลังเผชิญกับการระบาดใหญ่ของโควิด แม้ขณะนี้นักเรียนจำนวนหนึ่งกลับไปโรงเรียนแล้ว สิ่งที่น่ากังวลในขณะนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องช่วงเวลาที่สูญเสียไปของการศึกษา แต่ยังเป็นผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพจิตของเด็กด้วย เด็ก ๆ ทั่วโลกทุกข์ทรมานกับความรู้สึกเครียด ความวิตกกังวล และการโดดเดี่ยวในช่วงที่ต้องล็อกดาวน์และปิดโรงเรียนนานหลายเดือนในช่วงปีที่ผ่านมา ก่อนหน้าที่จะเกิดการระบาด แทบไม่มีการพูดถึงเรื่องสุขภาพจิตในโรงเรียนที่มุ่งเน้นด้านวิชาการในสิงคโปร์ แต่เรื่องนี้กำลังเปลี่ยนแปลงไป

ข้อมูลรูปแบบการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียน (จากภาพดังแนบ)

จากข้อมูลของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 กระทรวงศึกษาธิการ (ศบค.ศธ.) พบว่ามีโรงเรียนที่จัดการเรียนแบบออนไลน์เต็มรูปให้กับนักเรียนจำนวน 7,889 โรงเรียน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 22.46 ในสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น มีข้อจำกัดจากการใช้ Tablet PC ในหลายมิติด้วยกัน ดังนี้

  • ครอบครัวผู้ปกครองไม่สามารถจัดหาสัญญาณอินเทอร์เน็ต เพื่อให้นักเรียนได้เรียนออนไลน์อย่างเต็มรูปผ่าน Tablet PC ได้ ด้วยสภาพพื้นที่ของที่อยู่อาศัยและสภาพเศรษฐกิจ
  • ผู้ปกครองต้องออกไปทำงานนอกบ้าน นักเรียนต้องอยู่กับ Tablet PC โดยไม่มีผู้ดูแลกระตุ้นเตือนให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเองทำให้ขาดประสิทธิภาพ
  • ผู้เรียนต้องการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับเพื่อนและครู
  • การจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนามนุษย์ที่สมบูรณ์นั้น จะต้องมีการพัฒนาในองค์ประกอบ 3 ด้าน คือ ด้านสติปัญญา ด้านร่างกายอารมณ์สังคม และด้านคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ดังนั้นการใช้ Tablet PC เป็นไปเพื่อช่วยในการเรียนออนไลน์จะมีประโยชน์เกิดคุณค่าต่อการพัฒนาการศึกษาของคนได้เฉพาะบางส่วน จึงไม่เป็นคำตอบสุดท้ายสำหรับการจัดการศึกษาโดยรวม

ทางเลือกสำหรับการจัดการศึกษาในช่วงสถานการณ์โควิด 19

กระทรวงศึกษาธิการ และสถานศึกษา คำนึงถึงการจัดการศึกษาด้วยรูปแบบที่ใช้ครอบครัวและผู้เรียนเป็นฐาน รูปแบบการจัดการศึกษาการจัดการเรียนการสอน จึงต้องมีความหลากหลายตามความต้องการจำเป็น ทั้งนี้ ต้องเลือกที่เหมาะสมกับบริบทของครอบครัว สภาพพื้นที่ สภาพเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงศักยภาพของผู้เรียนเป็นหลัก

การจัดหา Tablet PC เพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียน จึงมีความเหมาะสมและจำเป็นกับนักเรียนเพียงบางกลุ่มบางสถานศึกษาเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่นักเรียนที่เรียนในระบบออนไลน์ ก็สามารถใช้เครื่องมือที่มีอยู่แล้วในการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ที่สถานศึกษาดำเนินการไปแล้ว.


☰กดไลค์หรือแชร์ เรื่องนี้ให้เพื่อนรู้ >>>

เว็บไซต์ห้องพักครูดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
กดติดตาม YouTube ห้องพักครูเพื่อเป็นกำลังใจ
แจกฟรีโปรแกรม ปพ.5 ล่าสุด แจกฟรีโปรแกรมเช็คชื่อ บันทึกความดี

เนื้อหาแนะนำ ข่าวการศึกษา


คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ ? ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณได้เลย !


วิธีการดาวน์โหลด สือการสอน แผนการสอน

จำหน่ายแผนการสอน ป.1-ม.6 ล่าสุด


หมวดหมู่ : ข่าวการศึกษา

รวมหนังสือเตรียมสอบ





ข่าว ล่าสุด

GED  |   chulatutor  |   สอบ IELTS  |   สอบ TOEIC  |   IELTS  |   TOEIC  |  

ติดตามเรา Facebook