โพสต์โดย : Admin เมื่อ 2 มิ.ย. 2564 09:36:45 น. เข้าชม 166424 ครั้ง
สามสิบปีของการทำหน้าที่ครูแพทย์ เรื่องหนึ่งที่ผมตระหนักว่าสำคัญ คือ ท่าทีต่อศิษย์ และพยายามพัฒนาทักษะเพื่อสานสัมพันธ์กับศิษย์ให้เหมาะสมแก่การสื่อสารอย่างราบรื่น ในมุมของศิษย์ถ้ารู้สึกว่า “ครูใจดี” นั่นหมายถึงจุดตั้งต้นแห่งการสานสัมพันธ์อันดี
เอ้...ทักษะสานสัมพันธ์อันเหมาะสมแปลว่าอะไร
ก่อนตอบคำถามนี้ ขอขยายความหน่อยนะครับ ว่าท่าทีของครูต่อศิษย์สำคัญเพียงใด ในวัฒนธรรมไทย ถ้า “เดินตามหลังผู้ใหญ่ หมาไม่กัด” ยังมีอิทธิพลทางความคิดอยู่ ท่าทีต่อศิษย์คงจะส่งผลต่อการเรียนของศิษย์มากกว่าที่นักวิจัยเจอในสังคมตะวันตก โดยเฉพาะท่าทีด้านภาษากาย นักวิจัยพบว่า... ทักษะการสื่อสารของครูสัมพันธ์กับการเรียนของศิษย์เกือบหกในสิบส่วน ยิ่งภาษากายของครูตัวเลขมากถึง 8 ใน 10 ส่วน
ท่าทีของครูในทางไม่เหมาะสมจะบั่นทอนพฤติกรรมในห้องเรียนของศิษย์ไปในทาง ดื้อดึง ปรับตัวยาก ไม่เชื่อมั่นในตนเอง ไม่กล้าคิดต่าง ด้อยความคิดริเริ่ม ความอยากรู้อยากเห็นถดถอย ไม่เป็นตัวของตัวเอง
ครูที่เน้นให้นักเรียนเชื่อฟัง อยู่ในโอวาท จะทำให้นักเรียนเรียนรู้แบบพึ่งพา (คอยฟังแต่ครู อ้างครูเป็นใหญ่) ไม่เคารพตนเอง ชอบเลียนแบบ ขาดวินัยในตนเอง (ต้องอาศัยกฎเกณฑ์ภายนอกกำกับพฤติกรรมร่ำไป)
นานมาแล้ว อริสโตเติล กล่าวว่า การสื่อสาร คือ การใช้ทรัพยากรทั้งปวงเพื่อหาทางให้ผู้อื่นแสดงความคิดเห็นโดยเต็มใจ
การสื่อสารอาศัย ภาษาพูด ภาษากาย โดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ เป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ ทางเดียวหรือสองทาง
ในประสบการณ์ส่วนตัว ผมนิยมตั้งต้นสานสัมพันธ์กับศิษย์ด้วยการแนะนำตัว เริ่มจาก ตนเองกล่าวทักทายด้วยรอยยิ้ม พร้อมกับกล่าวว่า ผมมีความทรงจำสั้น แต่อยากจดจำชื่ออันไพเราะ บุคลิกน่ารัก ของศิษย์แต่ละคน จึงขออนุญาตใช้กล้องมือถือบันทึกวีดิทัศน์ในจังหวะที่ศิษย์แต่ละคนแนะนำตัวเองสั้นๆ ด้วยชื่อเล่น หรือชื่อจริง
ผลตอบรับที่ได้ซ้ำแล้วซ้ำอีกนับครั้งไม่ถ้วนคือ ใบหน้าขำๆ ปนเขินอาย และสนุกสนานระคนแปลกใจนิดๆ ของศิษย์วัยใสทุกคน ระหว่างการบันทึก ผมก็จะทวนชื่อของศิษย์ทีละคน ก่อนขยับไปหาคนถัดไป การทวนชื่อผมทำถูกบ้าง ผิดบ้าง สบายๆ ด้วยท่าทีหยอกล้อนิดๆ เพื่อสร้างบรรยากาศเป็นกันเองให้ได้มากที่สุด
ภาษากายที่ปรากฏผ่านใบหน้า ท่าทาง น้ำเสียง ในความเป็นจริง (ผ่านการพิสูจน์ด้วยผลวิจัย) กลับมีพลังการสื่อสารมากกว่าลำพังคำพูด แม้แต่การนิ่งเงียบก็มีความหมาย ทั้งนี้ ขึ้นกับสีหน้า ท่าทางระหว่างนิ่งเงียบ
ในภาพยนตร์ เราได้เห็นบท ครูพูดกับศิษย์ ผู้กำลังกังวล (มักก้มหน้า หลบสายตา) กับการนึกคำตอบต่อคำถามที่ครูตั้ง
“มองตาครูสิ แล้วตอบให้ครู ให้เพื่อนได้ยินชัดๆ ว่า หนูคิดอย่างไรกับ....” โดยแววตา สีหน้า และน้ำเสียงของครูจะกำหนดว่าศิษย์อยากตอบคำถามหรือไม่ ...ตอบอย่างไร
เช่นเดียวกัน ท่าทีของครูต่อคำตอบที่ได้รับจากศิษย์คนหนึ่งจะส่งผลต่อเพื่อนๆ ของเขา
เวลาได้คำตอบไม่ตรง ผมมักจะพูดว่า “อืมม...ฟังดูน่าสนใจนะ เดี๋ยวลองฟังเพื่อนคนอื่นบ้างนะ” โดยไม่จ้องตาศิษย์ พยายามใช้น้ำเสียงเบาๆ ระวังไม่แสดงสีหน้าผิดหวังหรือตัดสินว่าผิด
เวลาได้คำตอบตรง ผมมักจะพูดว่า “เยี่ยมครับ” “ใช่เลยครับ” แล้วปิดท้ายด้วย “....ขอบคุณครับ” แล้วหันไปถามคนอื่นในห้อง ว่า “มีใครอยากมองต่างมุมบ้างมั้ย”
ที่สำคัญอีกประการคือ ผมไม่ปิดบังถ้าผมตอบคำถามศิษย์ไม่ได้ หรือ ตอบผิด และจะขอโทษทุกครั้งที่นึกได้ว่า พูดผิดไป ทั้งนี้เพื่อให้ศิษย์สบายใจว่า ครูไม่ใช่พหูสูต ไม่ใช่ผู้มีคำตอบสุดท้าย เขียนถึงบรรทัดนี้ ผมหวังว่าได้ตอบคำถามที่คาไว้ข้างต้น ไม่มากก็น้อย และขอเชิญชวนให้ผู้อ่านแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อเรียนรู้ร่วมกันนะครับ
......................................
คอลัมน์ : เวทีชวนคิด
โดย : ชวนคิด