โพสต์โดย : Admin เมื่อ 23 พ.ค. 2564 02:07:23 น. เข้าชม 166619 ครั้ง
“ครูบาอาจารย์ที่ท่านประทานความรู้มาให้
อบรมจิตใจให้รู้ผิดชอบชั่วดี
ก่อนจะนอนสวดมนต์อ้อนวอนทุกที
ขอกุศลบุญบารมีส่งเสริมครูนี้ให้ร่มเย็น”
แต่กุศลบุญบารมีอาจไม่ใช่สิ่งเดียวที่ช่วยให้ครูร่มเย็นเป็นสุขได้ เมื่อ ‘เงินเดือน’ อันเป็นปัจจัยหลักๆ ในการดำเนินชีวิตขอทุกคนยังเป็นประเด็นที่หลายคนพูดถึงอยู่ว่า เงินเดือนของข้าราชการครูนั้น ช่างน้อยนิดเหลือเกินเมื่อเทียบกับอาชีพอื่นๆ
ยิ่งกว่านั้น หากเทียบกับเนื้องานที่ครูในระบบโรงเรียนรัฐต้องทำ ซึ่งไม่ได้มีแค่ภาระงานสอนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกองงานเอกสารต่างๆ อีกมากมาย ที่ครูหลายคนต้องมาแบกรับ จะถือว่าเป็นงานที่ได้ค่าตอบแทนคุ้มค่าหรือไม่?
เงินเดือนครูน้อยจริงไหม?
‘ครูเก่งๆ ไปทำอาชีพอื่นที่ได้เงินเยอะแทน’
ประโยคที่ใครหลายคนอาจเคยได้ยินกันมาบ้างแล้ว กับประเด็นที่สังคมถกเถียงและตั้งคำถามกันมานานว่า เงินเดือนครู จริงๆ แล้วเยอะหรือน้อยกันแน่?
ต้องบอกก่อนว่า อาชีพครูนั้นมีหลากหลายตำแหน่งแตกต่างกัน ตั้งแต่ครูอัตราจ้าง ครูผู้ช่วย ไปจนถึงครู คศ.5 พร้อมวิทยาฐานะระดับสูง ทำให้ระดับเงินเดือนของครูแต่ละคนแตกต่างกันไปด้วย
สำหรับเงินเดือนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ อ้างอิงจากฐานเงินเดือนของครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามพ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะและเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลกรทางการศึกษา (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558 พบข้อมูลดังนี้
– ครูผู้ช่วย ขั้นต่ำ 15,050 บาท, ขั้นสูง 24,750 บาท
– ครู คศ.1 ขั้นต่ำ 15,440 บาท, ขั้นสูง 34,310 บาท
– ครู คศ.2 ขั้นต่ำ 16,190 บาท, ขั้นสูง 41,620 บาท
– ครู คศ.3 ขั้นต่ำ 19,860 บาท, ขั้นสูง 58,390 บาท
– ครู คศ.4 ขั้นต่ำ 24,400 บาท, ขั้นสูง 69,040 บาท
– ครู คศ.5 ขั้นต่ำ 29,980 บาท, ขั้นสูง 76,800 บาท
โดยแต่ละเทอม จะมีการประเมินครูเพื่อขยับเงินเดือน โดยคิดในรูปแบบของเปอร์เซ็นต์ แบ่งเกณฑ์การประเมินเป็น 2 องค์ประกอบ ได้แก่ ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการปฏิบัติงาน ซึ่งประเมินตามการพัฒนาของนักเรียน และการปฏิบัติตนในการรักษาวินัย คุณธรรม จรรยาบรรณ วิชาชีพ
ขณะที่ หากใครต้องการให้เงินเดือนขยับสูงขึ้นเร็วกว่าระบบปกติ ก็สามารถทำวิทยฐานะเพื่อเลื่อนขั้นเงินเดือนได้ ตามเงื่อนไขของแต่ละระดับ โดยมีระดับตั้งแต่ วิทยฐานะชำนาญการ (ชน.), ชำนาญการพิเศษ (ชนพ.), เชี่ยวชาญ (ชช.) และเชี่ยวชาญพิเศษ (ชชพ.) ซึ่งแต่ละระดับก็จะมีอัตราเงินวิทยฐานะแตกต่างกัน ดังนี้
– วิทยฐานะชำนาญการ (ชน.) 3,500 บาท
– วิทยฐานะชำนาญพิเศษ (ชนพ.) 5,600 บาท
– วิทยฐานะเชี่ยวชาญ (ชช.) 9,900 บาท
– วิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ (ชชพ.) 13,000 บาท, 15,600 บาท
เห็นได้ว่า เงินเดือนของครูถูกแบ่งออกไปหลากหลายระดับ ดังนั้นแล้ว คำว่าเยอะหรือน้อย อาจกลายเป็นเรื่องปัจเจกของครูแต่ละคนไปด้วยเช่นกัน
“ผมเป็นครูชำนาญการ ได้ค่าตำแหน่ง 3,500 บาท มีเงินเดือนรวมอยู่ที่ประมาณ 30,000 กว่าบาท” คำกล่าวจาก ยอดรัก ครูประจำโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดศรีสะเกษ โดยเขาเล่าว่า เงินที่เขาได้ตอนบรรจุเข้านั้น อยู่ที่ 15,000 บาท และก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในมุมมองส่วนตัวของเขา เงินที่ได้จากการทำงานในแต่ละเดือน เพียงพอกับค่าใช้จ่าย เนื่องจากเขาเองก็อาศัยอยู่ในจังหวัดที่ค่าครองชีพไม่ได้สูงมากนัก
ถึงอย่างนั้น ครูยอดรักก็มองว่า หากเขาต้องไปสอนหนังสือในเมืองใหญ่ที่มีค่าครองชีพสูงกว่าที่เป็นอยู่ จำนวนเงินที่ได้นี้ก็อาจไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตก็เป็นได้
ในประเด็นนี้ ธนวรรธน์ สุวรรณปาล หรือครูทิว จากกลุ่มครูขอสอน มองว่า ตามเกณฑ์กำหนดที่ให้เงินเดือนครูสตาร์ทเท่ากัน ไม่ว่าครูจะบรรจุที่ไหนนั้น ทำให้มุมมองต่อเงินเดือนแตกต่างกันไป เพราะแต่ละพื้นที่มีค่าครองชีพที่แตกต่างกัน
อีกทั้งยังมีครูอัตราจ้างที่ได้รับเงินเดือนแตกต่างกันไปตามรูปแบบการจ้าง แบบแรกคือโรงเรียนที่ขาดแคลนครูจะทำหนังสือไปยังเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อขอครูอัตราจ้างมา โดยเงินที่จ่ายให้ครูอัตราจ้างจะเป็นเงินที่เบิกมาจากเขตพื้นที่การศึกษา ขณะที่อีกแบบหนึ่ง คือ โรงเรียนไม่ได้ทำเรื่องไปที่เขต แต่ใช้งบของโรงเรียนมาจ้างเอง ซึ่งก็จะแบ่งเกณฑ์เงินจ้างต่างกันไป ตั้งแต่ระดับ 3,500-4,000 ไปจนถึงเงินเดือนขั้นต่ำ 15,000 บาท
มะปราง ครูอัตราจ้างจากโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี เล่าว่า เธอได้เงินเดือนอยู่ที่ 7,000-8,000 บาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพ ทำให้ต้องรับงานเสริมอื่นๆ อย่างสอนพิเศษ เพื่อให้ได้คุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม
นั่นทำให้หลายคนมองว่า คนที่เก่งและมีความสามารถ หนีไปทำอาชีพอื่นกันหมด เพราะอาชีพครูไม่คุ้มกับค่าเหนื่อยที่พวกเขาต้องเสียไป
แต่ข้อมูลจากงานวิจัยเรื่อง ครุเศรษฐศาสตร์ ระบุว่า เดิมทีอาชีพครูจะได้รับเงินเดือนตามอัตราของข้าราชการทั่วไป และไม่ได้แตกต่างสำหรับครูในแต่ละระดับชั้นหรือในแต่ละพื้นที่ ซึ่งการจ่ายเงินเดือนด้วยอัตราข้าราชการนี้ทำให้ครูเป็นอาชีพที่ได้รับเงินเดือนต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับการประกอบอาชีพอื่นๆ ส่งผลทำให้การประกอบวิชาชีพครูไม่ใช่ทางเลือกของคนเก่ง
ดังนั้น การปฏิรูปคุณภาพการศึกษาไทยที่ผ่านมา จึงให้ความสำคัญกับการเพิ่มค่าตอบแทนของครูโดยมีการออก พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการครู เพื่อแยกผลตอบแทนของข้าราชการครูออกจากข้าราชการพลเรือน ทำให้ระดับเงินเดือนและเงินวิทยฐานะของครูถูกปรับเพิ่มขึ้น จนในปัจจุบันไม่ได้น้อยกว่ารายได้ต่อเดือนเฉลี่ยของอาชีพอื่นอีกต่อไป
ภาระที่ครูต้องแบกรับ
อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องค่าตอบแทนของอาชีพครู ก็ยังวนเวียน และถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอยู่เสมอ ทั้งยังเกี่ยวโยงไปถึงคำกล่าวที่เราได้ยินกันมานานว่า ‘อาชีพครู ต้องเสียสละ’ ซึ่งมาพร้อมกับความเชื่อว่า คนเป็นครูต้องทำงานด้วยใจ แม้จะได้ค่าตอบแทนไม่สูงเทียบเท่ากับอาชีพอื่น ก็ไม่เป็นไร
“บางคนก็บอกว่า นี่ไง ครูมาพูดเรื่องเงินเดือน งั้นก็เพิ่มเงินเดือนครูสิ แต่บางคนก็บอกว่า คุณเป็นครูจริงๆ หรือเปล่า มีจิตวิญญาณความเป็นครูไหม ครูต้องเสียสละสิ แล้วยังไง ครูต้องจนเหรอ เราถูกมายาคติที่เกี่ยวกับครูกดทับลงไปอีก” ครูทิวกล่าว
ขณะเดียวกัน ครูเอ๋ ครูสอนชั้นประถมศึกษา จากโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดศรีสะเกษ เล่าว่า ตอนแรกที่เธอบรรจุเข้ามานั้นได้รับเงินอยู่ที่ 6,000 กว่าบาท ซึ่งเธอมองว่า เป็นจำนวนเงินที่พออยู่ได้ หากไม่มีภาระค่าใช้จ่ายมาก หรือมีหนี้สินใดๆ
ถึงอย่างนั้น เธอก็เล่าถึงภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ครูต้องแบกรับ อย่างค่าน้ำมันรถที่ต้องใช้ทั้งงานส่วนตัวและงานราชการ ซึ่งไม่สามารถเบิกได้เต็มที่ กลายเป็นว่าต้อง ‘ช่วยๆ กันออก’ เช่นเดียวกับค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ ซึ่งแม้ว่าทางรัฐจะมีงบให้เบิก แต่ก็ไม่มากถ้าเทียบกับโครงการที่ต้องทำตามที่เบื้องบนสั่งการมา
“ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเรียนรู้ส่วนหนึ่งครูต้องจัดหาด้วยงบประมาณตนเอง ทำงานเหมือนข้าราชการทั่วไป มีเวรกลางวันกลางคืน วันหยุด ทำงานตลอดเวลา เพราะต้องเตรียมการสอน เตรียมสื่อ และไม่มีเบี้ยเลี้ยงให้ในส่วนนี้ ถ้าถามว่าคุ้มค่าไหม บางคนก็อาจจะคุ้ม แต่หลายคนก็เสมอตัว หรือไม่คุ้มค่าเลย ด้วยความที่ต้นทุนชีวิตต่ำ อย่างเราเป็นหนี้ กยศ. ตั้งแต่บรรจุ ก็ยังใช้หนี้อยู่เลย เลยต้องอยู่อย่างประหยัด แต่บางเดือนก็ยังไม่พอใช้ เพราะเรามีภาษีสังคมอีก ทั้งงานแต่ง งานศพ”
นอกจากนี้ ครูเอ๋ให้ความเห็นว่า การจะบอกว่าเงินเดือนครูเยอะหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับค่าครองชีพของครู แต่ขณะเดียวกัน ภาระงานที่ครูต้องแบกรับ ซึ่งไม่ได้มีแค่การสอนหนังสือในห้องเรียน แต่ยังรวมไปถึงการทำงานล่วงเวลา ลงพื้นที่ดูแลเด็ก ซึ่งครูก็ควรได้เบี้ยเลี้ยงเพิ่ม
ครูเอ๋ยังเล่าด้วยว่า บางคนบอกว่า ที่ครูหลายคนบ่นว่าเงินเดือนน้อย เพราะครูอยากได้ อยากมีเอง เช่น อยากได้บ้านใหม่ อยากมีรถขับ แต่อีกมุมหนึ่ง สิ่งที่ครูต้องการก็คือความจำเป็นเพื่อจะยกระดับคุณภาพชีวิตของครูเองให้ดีขึ้นด้วย
“เราต้องอยู่เวรกลางคืน หรือทำงานในช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ การออกเดินทางไปประชุม การไปศึกษาดูงานในช่วงวันหยุดปิดเทอม หรือช่วงที่ต้องพักผ่อน หรือบางทีต้องใช้เงินส่วนตัวไปเยี่ยมบ้านเด็ก หรือไปประชุม”
เช่นเดียวกับครูยอดรัก ที่มองว่าเมื่อนำเนื้องานไปเปรียบเทียบเงินเดือนที่ได้รับแล้ว เขาก็เห็นด้วยว่า ภาระงานต่างๆ ของครูมากเกินจำเป็น โดยปกติแล้ว ครูจะมีภาระหน้าที่หลักเป็นงานสอนหนังสือ แต่ก็มีหน้าที่อื่นที่ต้องรับผิดชอบงานตามนโยบายไปด้วย เช่น งานพัสดุ งานธุรการต่างๆ รวมถึง ต้องคอยกรอกข้อมูล งานเอกสาร ไปจนถึงการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเด็กๆ
ส่วนเรื่องของสวัสดิการในอาชีพครู ที่ทั้งครูเอ๋และครูยอดรักมองว่า คุ้มค่าในเรื่องการรักษาพยาบาลฟรี เพราะทั้งครู และครอบครัวของครูก็ได้รับสิทธินี้ แต่ยอดรักก็กล่าวถึง ‘บ้านพักครู’ ซึ่งเป็นหนึ่งในสวัสดิการที่ครูควรได้รับ แต่ปัจจุบัน บ้านพักครูหลายแห่งถูกปล่อยรกร้าง และกลายเป็นที่เก็บของไปเสียอย่างนั้น
“ครูส่วนใหญ่ ก็ไม่ได้สอนอยู่โรงเรียนใกล้บ้าน แล้วพอไม่มีบ้านพักครู ภาระค่าใช้จ่ายของครูก็เพิ่มขึ้นมาอีกส่วนหนึ่ง”
ความก้าวหน้าทางอาชีพครู
อีกประเด็นที่ถูกพูดถึงในเรื่องค่าตอบแทนของอาชีพครู คือความก้าวหน้าทางอาชีพ ที่บางคนก็มองว่า ครูสามารถเลื่อนขั้นทางอาชีพได้ด้วยตัวเอง นั่นคือ ขยับตำแหน่งทางข้าราชการ และทำวิทยฐานะเพื่อขยับฐานเงินตอบแทนได้
แต่ถ้าไม่ได้ทำวิทยฐานะ หรือมีเงินพิเศษจากตำแหน่งล่ะ?
ครูทิวกล่าวว่า อาชีพครูเติบโตน้อยกว่าอาชีพอื่น หากไม่ได้มีเงินพิเศษจากตำแหน่งหรือทำวิทยฐานะ ซึ่งตัวเขาเองก็สอนหนังสือมาได้ 5-6 ปีแล้ว แต่เงินเดือนนับตั้งแต่แรกเข้าซึ่งอยู่ที่ 15,000 บาท จนถึงตอนนี้ ยังไม่ถึง 21,000 บาทเลยด้วยซ้ำ
ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า อาชีพครูจะไม่เติบโตเลย เพราะครูทิวก็มองว่า การทำวิทยฐานะเป็นขวัญและกำลังใจอย่างหนึ่งที่ทำให้ครูพัฒนาตนเอง ทำให้ครูก้าวหน้าในอาชีพได้ด้วยตัวครูเอง ไม่จำเป็นต้องเลื่อนไปยังตำแหน่ง รอง หรือ ผอ.
“พอทำวิทยฐานะ ก็จะได้เงินเสริมมา ซึ่งผมว่ามันก็ไม่ผิดที่ครูจะคิดถึงตรงนั้น เพราะว่าวันนึงเราก็ต้องเติบโตมีค่าใช้จ่าย พัฒนาคุณภาพชีวิตของตัวเอง ดังนั้น ตรงนี้ก็จะมาช่วยได้”
หากเทียบกับต่างประเทศแล้ว ก็มีการทำผลงานเพื่อเลื่อนขั้นครูเหมือนกัน แต่ครูทิวกล่าวว่า ในประเทศอื่นๆ ยิ่งตำแหน่งหรือความเชี่ยวชาญของครูสูงเท่าไหร่ ความดูแลรับผิดชอบก็มากขึ้นเท่านั้น ผิดจากประเทศไทย ที่ครูวิทยฐานะสูงกลับมีงานน้อยลง เนื่องด้วยระบบอาวุโสที่ฝังรากอยู่ในวัฒนธรรม
นอกจากนี้ อีกปัญหาจากเรื่องของการทำวิทยฐานะ คือวิธีการประเมินที่เน้นงานเอกสารเป็นหลัก จนถูกตั้งคำถามมาตลอดว่า การทำวิทยฐานะสะท้อนถึงคุณภาพของครูจริงไหม เพราะเรามักได้ยินกันอยู่เสมอว่า ครูต้องไปทำผลงานจนไม่มีเวลาสอนนักเรียน
ไม่เพียงแต่การทำวิทยฐานะเท่านั้น แต่การประเมินเพื่อเลื่อนขั้นเงินเดือนเองก็ประสบกับการเน้นเรื่องงานเอกสารเป็นหลักเหมือนกัน แม้ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์กันอยู่เรื่อยๆ โดยครูทิวเล่าว่า ปีนี้ก็มีข่าวว่าจะมีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์การประเมินอีกครั้ง หลังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับฟีดแบ็คจากเกณฑ์ที่ใช้เมื่อปี พ.ศ.2560 มามาก
“ปัญหาที่ผมมองคืออย่างนี้ ใครเป็นคนประเมิน ระบบในการประเมินคุณบอกว่าต้องการให้ผู้เรียนเป็นสำคัญ คุณเคยถามผู้เรียนไหมว่า ครูคนนี้สอนเป็นยังไง แต่พอประเมินกลับผู้บริหารมาประเมินครู แต่ตัวผู้เรียน ผู้ปกครอง ผู้ใช้บริการกับครูไม่มีส่วนที่จะสะท้อนฟีดแบ็คกลับมาเลย สุดท้ายเป้าหมายปลายทางก็ไปดูว่า มีผลงานนักเรียนไหม คะแนนสอบ O-NET เป็นยังไงบ้าง มันก็ย้อนกลับมาที่วิธีการสอนของครูว่าทำไมครูชอบสั่งงานเด็ก โดยที่ไม่ไปดูธรรมชาติการเรียนรู้ หรือว่าฟังเด็กเท่าที่ควร จริงๆ ผมก็เลยไม่โทษครูที่มีมายเซ็ตแบบนี้ เพราะระบบมันเป็นแบบนี้มาทอดๆ ครูถูกประเมินจากเอกสาร ดังนั้น ครูก็เลยพยายามทำให้มีเอกสาร มีร่องรอยอะไรมากที่สุด เพื่อที่จะเอาไปใช้ในการประเมินได้”
ขณะที่ ครูเอ๋ เล่าว่า เธอไม่ค่อยได้ทำวิทยฐานะ เพราะไม่ถนัดทำงานเอกสาร ซึ่งส่วนตัวเธอมองว่า ครูที่จะได้ดี หรือมีความก้าวหน้าในอาชีพนั้น ส่วนมากก็เป็นคนที่ทำงานเอกสารเก่งกันทั้งนั้น
ยิ่งกว่านั้น หากเป็นครูอัตราจ้างก็ยิ่งยากที่จะขยับฐานเงินเดือนขึ้นได้ ซึ่งครูทิวยกตัวอย่างถึงเพื่อนครูและครูรุ่นพี่ที่เป็นอัตราจ้างที่เขารู้จักว่า หลายคนได้เงินเดือนเท่ากับเมื่อ 5 ปีก่อน ไม่ได้ขยับขึ้นเลย เช่นเดียวกับครูมะปรางที่เล่าถึง ครูอัตราจ้างรุ่นพี่ของเธอที่ทำงานมานานกว่าหลายปี แต่ก็ยังได้เงินเดือนอยู่ที่ 8,000 บาท เท่ากับเธอที่ทำงานมาได้ปีครึ่ง
“ส่วนใหญ่ที่มาเป็นครูอัตราจ้างกัน ก็เพราะว่า ถ้าทำงานครบ 3 ปี จะได้สิทธิ์ในการสอบกรณีพิเศษ ไม่ต้องไปสอบแข่งขันบรรจุกับครูทั่วไป ซึ่งการแข่งขันสูงกว่า หลายคนเลยยอมแลกสิทธิ์ตรงนี้กับเงินเดือนที่ไม่ได้สูงนัก”
คุณภาพชีวิตที่ดี เป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต โดยครูทิวมองว่า ถ้าอยากจะเพิ่มคุณภาพชีวิตครูอาจไม่จำเป็นต้องเพิ่มเงินเดือนก็ได้ แต่ให้ครูได้ทำภาระงาน หรืออะไรอื่นๆ ให้เหมาะสม ซึ่งบางคนบอกว่า เพิ่มเงินเดือนครู แล้วครูจะสอนดีขึ้น ก็อาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้ เพราะถ้าเพิ่มเงินเดือนครูแล้ว แต่ภาระงานยังเยอะขนาดนี้ แล้วครูไม่สามารถสอนได้อย่างเต็มที่ มันก็เท่านั้น
“แต่อย่างน้อย การลดภาระงานมันก็ช่วยได้ตรงที่ครูบางคนที่ถึงเกณฑ์แล้ว พยายามจะทำวิทยฐานะเพื่อให้ได้เงินเพิ่ม เขาอาจจะไม่ต้องไปขวนขวาย ทำงานพิเศษ หรือไปสอนพิเศษ เพื่อมาจุนเจือชีวิตตัวเองกับครอบครัว ไม่ต้องดิ้นรนจากงานตัวเองที่ภาระงานมันเยอะอยู่แล้ว”
อ้างอิงเพิ่มเติมจาก matichon.co.th
พิริยะ ผลพิรุฬห์, งานวิจัยฉบับสมบูรณ์: ครุเศรษฐศาสตร์ (วิทยาลัยนานาชาติ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2558) หน้า 78-80.
ขอบคุณข่าวต้นฉบับ https://thematter.co/social/education/teacher-salaries/133157