โพสต์โดย : Admin เมื่อ 22 พ.ค. 2564 07:55:31 น. เข้าชม 166496 ครั้ง
คุยกับ “ผอ.แอ้ด” เมธชนนท์ ประจวบลาภ อายุ 25 ปี คนรุ่นใหม่ ซึ่งกำลังผลักดันการศึกษาที่ชื่อว่า “การศึกษานอกระบบตามอัธยาศัย” ให้เป็นพื้นที่ของคนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาปกติด้วยเหตุผลจำเป็น ให้มีโอกาสได้เข้ามาเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างและนำไปประกอบอาชีพได้ในอนาคต
“ผมเป็นลูกที่เกิดจากพ่อแม่ท้องไม่พร้อม แม่ท้องตอนอายุ 17 ปี สุดท้ายพอคลอดผม พ่อกับแม่ก็ไม่ได้เรียนต่อในระดับมัธยมปลายต้องออกกลางคัน ซึ่งทำให้พ่อแม่ไม่ได้ศึกษาต่อ พอโตขึ้นมาก็เห็นว่าพ่อแม่ลำบาก พอไม่มีวุฒิการศึกษาในสังคมที่มันต้องใช้วุฒิการศึกษาเป็นใบเบิกทาง ทำให้เห็นความลำบากของพ่อแม่”
ด้วยความที่เป็นเด็กรักกิจกรรม เขาเข้าร่วมกิจกรรมเยาวชนมาโชกโชน จนทำให้เห็นถึงเด็กกลุ่มหนึ่งที่อาจจะเจอปัญหาครอบครัว ยาเสพติด สภาพร่างกาย สถานะทางการเงิน จนทำให้ไม่มีโอกาสได้ศึกษาต่อตามระบบการศึกษาปกติ แต่ขณะเดียวกัน การฝึกวิชาชีพไปโดยไม่มีวุฒิการศึกษามาการันตีต่อให้เข้าฝึกอบรมวิชาชีพมากขนาดไหนสุดท้ายก็ อาจสูญเปล่า
จึงเป็นที่มาของการศึกษาตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและพบว่า ใน พ.ร.บ. "พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542" มาตรา 15 การจัดการศึกษามี 3 รูปแบบ คือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษานอกระบบตามอัธยาศัย
“การศึกษานอกระบบตามอัธยาศัย” คือ คำตอบของโอกาสที่จะให้คนหลายคนเข้ามาต่อยอดความรู้หรือวิชาชีพของตนเองได้ และยังสามาถเทียบโอนกันได้
“ตัวผมเองจบปริญญาตรีโดยการเทียบโอน หมายถึง ผมเรียนในระบบแค่ 2 ส่วน (ม.ต้น-ม.ปลาย) อีก 1 ส่วนเอาประสบการณ์ชีวิต เอาประสบการณ์ทำงานไปเทียบตอนแรกมหาวิทยาลัยก็ตกใจตอนแรกบอก ไม่ได้ อายุไม่ได้ ตอนนั้นอายุ 21 ปี จบมา 21 ปลายๆ เร็วกว่าเพื่อน (3 ปี) ตอนแรกเขาก็ไม่ยอม เลยงั้นส่งศาลตีความไหมล่ะ ว่าเทียบไม่ได้ แล้วเดี๋ยวผมส่งศาลตีความ สุดท้ายเขาก็ให้นิติกรมาดู ก็ยอม พอเรามีประสบการณ์ตรงนี้แล้วมันเลยเป็นที่มาของการเดินมาอยู่บนเส้นทางสายการศึกษา”
ซึ่งเขาเลือกเรียน “รัฐศาสตร์” และเข้าสู่เส้นทางการบริหารการศึกษาที่ใช้หลัก “รัฐศาสตร์ควบคู่กับประสบการณ์ชีวิต”
เขามองว่า หลักของ รัฐศาสตร์ คือ “การศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของชาวไทย” เพราะฉะนั้นรัฐศาสตร์คือศาสตร์ของการปกครอง การปกครองคนให้ง่ายและสัมฤทธิ์ผลที่สุด คือการทำให้คนเท่ากัน และการทำให้คนเท่ากัน คือ การจัดสวัสดิการจากรัฐขั้นพื้นฐาน นี่คือที่มาว่า ทำไมรัฐศาสตร์ถึงเข้ามาอยู่ในวงการการศึกษาได้
ดังนั้นแล้ว คนที่พลาดโอกาสทางการศึกษาและต้องการ “ศึกษานอกระบบตามอัธยาศัย” ก็สามารถทำได้ เขายกตัวอย่าง ที่ศูนย์การเรียนเซนต์ ยอห์นบอสโก บางขุนเทียน ซึ่งเขาเป็นผู้อำนวยการอยู่ในปัจจุบัน ว่า หลักเกณฑ์การรับจัดการ “การศึกษานอกระบบตามอัธยาศัย” จะต้องดู พื้นฐานเดิมก่อน ต้องคำนึงถึงและเคารพผลการเรียนรู้เดิมของเขา ซึ่งไม่ใช่คุณวุฒิหรือไม่ใช่วุฒิล่าสุด แต่หมายถึง “ประสบการณ์ทั้งชีวิตของเขา” ด้วยการสัมภาษณ์ประเมินเบื้องต้น จากนั้นมีข้อสอบวัดระดับ ว่ามีความรู้พื้นฐานสุดท้ายเทียบเท่าระดับชั้นไหน
“ เขาอาจจะจบ ป.6 มาแล้ว 3 ปี แต่อยากเรียนถึง ม.3 เราก็เอาข้อสอบวัดระดับ ม.1 ม.2 ม.3 เขาอาจจะทำได้ถึง ม. 2 แสดงว่าประสบการณ์ชีวิตเขาอาจจะได้ ม.2 เป็นหน้าที่ของเราที่จะจัดการศึกษาในช่วงชั้น ม.3 ให้เขา ซึ่งอายุมากที่สุดที่เคยมีมาคือ 58 ปี เขาบอกว่าเขาอยากทำตามความฝันให้จบการศึกษา และอยากจะคุยให้ทันลูกที่คุณวุฒิสูงกว่า”
จากนั้น จะใช้เครือข่ายหลักคือการกระจายอำนาจให้สถานศึกษา หรือภาคีเครือข่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา หมายความว่า
“เราจะไม่ได้สอนเองทั้งหมด เป็นเพียง 10% นอกนั้นจะใช้ภาคีเครือข่ายที่มีส่วนร่วมในบริเวณแห่งนี้ เช่น กฎหมายอาจจะเป็นตำรวจ การพัฒนาชุมชน สังคม อาจเป็นสำนักงานเขต การแสดงอาจเป็นโรงเรียนการแสดงที่เราจับมือกันอยู่ การจัดการศึกษานอกระบบตามอัธยาศัยคือทำอย่างไรก็กหได้ให้ผสมกลมกลืนกับชีวิตของเขา”
แล้ววัดผลการเรียนอย่างไร ...
เขายกตัวอย่างว่า หากใครมีประสบการณ์ทำอาหาร ก็มีห้องฝึกอาหาร บางคนมีความเชี่ยวชาญด้านการแสดงก็ส่งต่อให้สถาบันการแสดงและส่งประเมินผลมา มี 8 กลุ่มสาระ ถ้าเขาทำอาหารเก่งมากเลย แล้วเมื่อทำแฟ้มสะสมผลงานตอนจบ มีการนำทักษาการทำอาหารมาไว้ในแฟ้มเป็นส่วนมาก ก็ไปตัดเกรดจากวิชาการงานพื้นฐานอาชีพ เยอะหน่อย ต่อมา ถ้าสมมุติว่า ทำขนมด้วยและนำไปขาย การเอาไปขายเกี่ยวข้องกับคณิตศาสตร์ หรือการสื่อสารเกี่ยวข้องกับภาษาไทย เป็นต้น
สรุปคือเราจับผลการเรียนรู้ของเขาให้มันตรงกับโครงสร้างหลักสูตรที่เรามี นอกจากนั้นยังจัดสอบตามมาตรฐานที่กระทรวงกำหนดอีกครั้ง ทั้งปฏิบัติ ทฤษฎี ตามแต่ครูแต่ละท่านจะประเมินนักเรียนแต่ละคน
สำหรับนักเรียนที่อยู่ในความดูแลของเขา ส่วนใหญ่จะมี 2 เคส คือ เพื่อต้องการวุฒิ ม.6 สำหรับศึกษาต่อมหาวิทยาลัย หรือ สายอาชีวะ ปวส. อนุปริญญา กับเพื่อไปสอบอาชีพ ตำรวจ ทหาร เช่น นายสิบ
ปัจจุบัน ศูนย์การเรียนเซนต์ ยอห์นบอสโก บางขุนเทียน มีประมาณ 700 คน และศึกษาจบ 150 คนต่อภาคเรียน ซึ่งมีทั้งคนที่เคยมีปัญหาเรื่องยาเสพติด สถานะทางการเงินไม่เอื้ออำนวย ไปจนถึงระดับนักกีฬาทีมชาติที่ต้องจัดสรรเวลาเรียนให้เข้ากับตารางการฝึกซ้อม เป็นต้น
“ แต่ถ้ามาปกติแบบเบื่อไม่อยากเรียนในระบบ อันนี้เราต้องยกมือไหว้นะ เชิญกลับไปเรียนตามระบบก่อน ถ้าไม่ไหวแล้วค่อยมา ถ้าขี้เกียจแล้วมีเหตุผลอื่น เช่น ต้องทำงานขายก๋วยเตี๋ยวเพื่อเลี้ยงลูก เลี้ยงพ่อแม่ โอเคอันนี้คือมีความประสงค์จะเข้าเรียน”
อยากผลักดันให้ “การศึกษานอกระบบตามอัธยาศัย” เป็นที่รู้จักมากขึ้นเพื่อสร้างโอกาสให้คนไทย
ซึ่งเขาขยายความว่า ในกฎหมายกำหนดชัดเจนว่าการศึกษามี 3 รูปแบบ ดังนั้น การศึกษาทั้ง 3 รูปแบบต้องไปพร้อมกัน เราจะให้น้ำหนักระบบอย่างเดียวไม่ได้ เพราะเราพิสูจน์กันมาแล้วว่า เราจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานภาคบังคับ 9 ปี ขั้นพื้นฐาน 12 ปี มันก็ไม่ทำให้ประชาชนกินดีมีสุข แสดงว่า
“การศึกษาในระบบไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด การศึกษานอกระบบตามอัธยาศัยก็ไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด แต่เป็นการเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนว่าแบบไหนเหมาะสมกับเขามากที่สุดเท่านั้นเอง”
ขอบคุณข่าวต้นฉบับจาก : www.pptvhd36.com
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ https://www.pptvhd36.com/news/news/สังคม/142638
ติดตามข่าวดีๆ : www.pptvhd36.com