กรณีนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ร่วมดีเบตกับกลุ่มนักเรียนเลว และเครือข่ายนักเรียนรวม 50 แห่ง ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด โดยทางกลุ้มนักเรียนยื่น 3 ข้อเรียกร้อง 1 เงื่อนไข คือ หยุดคุกคามนักเรียน ยกเลิกกฎระเบียบที่ล้าหลัง และปฏิรูปการศึกษา ส่วน 1 เงื่อนไข คือ หากทำไม่ได้ให้รับมนตรีว่าการ ศธ.ลาออกนั้น
เมื่อวันที่ 7 กันยายน นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) อยู่ระหว่างรับฟังข้อมูลการแสดงความคิดเห็นของนักเรียน ส่วนการคุกคามนักเรียนนั้น สพฐ.ได้แจ้งไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และโรงเรียนแล้ว พร้อมกับเปิดพื้นที่ให้นักเรียนแสดงความคิดเห็น ซึ่งก็มีบ้างที่ได้รับร้องเรียนมา แต่ สพฐ.ได้ว่ากล่าวตักเตือนไปแล้ว ขณะนี้ผู้อำนวยการโรงเรียน ครูและนักเรียนก็มีความเข้าใจกันและกันแล้ว
“ส่วนกฎระเบียบต่างๆนั้น ส่วนใหญ่สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) เป็นผู้ออกกฎระเบียบควบคุมทั้งระบบ สพฐ.จะเป็นฝ่ายปฏิบัติเท่านั้น ส่วนการปฏิรูปการศึกษา สพฐ.อยู่ระหว่างการปฏิรูปหลักสูตร จัดการเรียนการสอนให้เด็กได้เรียนรู้ ปฏิบัติมากกว่า เช่น ลดการบ้าน ปรับวิธีวัดผลประเมินผล และลดการเรียนในห้องเรียน แต่ให้นักเรียนทำกิจกรรมทีเกิดกระบวนเรียนรู้” นายอำนาจ กล่าว
นายศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) กล่าวว่า ขณะนี้ ส.ปส.กช. ประจำจังหวัดต่างๆ เปิดรับฟังความคิดเห็นของนักเรียนในระดับ ม.ต้นและ ม.ปลาย เรื่องเกี่ยวกับการศึกษาและการเมือง จำนวน 20 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อรวบรวมข้อมูลเสนอนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ซึ่งนักเรียนได้สะท้อนความคิดเช่น ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การเรียนที่หนัก การดูแลนักเรียน หรือระบบการแนะแนวที่บางครั้งนักเรียนมีปัญหา หรือต้องการปรึกษาเรื่องเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา แต่ไม่มีครูให้คำปรึกษาเพราะครูต้องไปทำหน้าที่อื่น ซึ่ง ศธ.อาจจะต้องปรับเปลี่ยนโดยลดภาระครู เพื่อให้ครูได้มุ่งเน้นให้คำปรึกษานักเรียนเป็นรายคนไป