โพสต์โดย : Admin เมื่อ 13 ก.ค. 2563 04:40:47 น. เข้าชม 166442 ครั้ง
แฟ้มคดี : เปิดคดีวุ่นรับเปิดเทอม แม่ขโมยชุดน.ร.ให้ลูก ปมกล้อนผมน.ร.-บาน รุมจี้ฟันครู-ผิดม.157
เปิดคดีวุ่นรับเปิดเทอม : เป็นอีกเรื่องวุ่นๆ รับเปิดเทอม ที่หลายครอบครัวต้องเผชิญปัญหาหลังผ่านพ้นวิกฤตการณ์โควิด
ทั้งเรื่องสภาพทางเศรษฐกิจ ที่ผู้ปกครองต้องรับภาระเพิ่ม นอกจากค่าเทอม ค่าเล่าเรียน ชุด อุปกรณ์ต่างๆ
จนกระทั่งไปถึงหน้ากากอนามัย เฟซชีลด์ แถมยังต้องดูแลบุตรหลานเพิ่มขึ้นสำหรับโรงเรียนที่ต้องสลับเวลาเรียน
แถมยังต้องซ้ำกฎระเบียบที่เกิดปัญหาจากการปรับตัวต่อสิ่งใหม่ของบุคลากรทางการศึกษา ที่แม้กระทรวงศึกษาธิการจะออกระเบียบออกมา แต่โรงเรียนกลับทำตัวเป็นรัฐอิสระ
ไม่รับฟังปรับตัว ยังใช้อำนาจของความเป็นครูกดทับ จนเกิด เรื่องราวอย่างเช่นที่ครูกล้อนผมนักเรียนที่จ.ศรีสะเกษ
หรือกระทั่งแม่ต้องขโมยชุดนักเรียนเพื่อให้ลูกได้ใช้ในวันเปิดเรียน
กลายเป็นเรื่องจุกจิก ที่ไม่ได้ส่งผลให้พัฒนาการศึกษาในประเทศดีขึ้นเลยแม้แต่น้อย
คงได้แต่ภาวนาให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี
สลดแม่ขโมยชุดน.ร.ให้ลูก
เหตุการณ์สลดแม่ขโมยชุดนักเรียนให้ลูกครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในอ.หลังสวน จ.ชุมพร โดยแม่วัย 26 พร้อมลูกสาววัย 8 ขวบถูกรปภ.ห้างดังกล่าวจับกุมได้ พร้อมของกลางเป็นชุดเสื้อ-กระโปรงนักเรียนระดับมัธยมศึกษา รองเท้านักเรียนหญิง 1 คู่ และรองเท้าผ้าใบนักเรียนชาย 1 คู่
ก่อนแจ้งให้ร.ต.อ.สุวรรณชาติ ไหมทอง รองสวป.สภ.หลังสวน ในฐานะหัวหน้าสายตรวจรถยนต์ เข้าตรวจสอบ ขณะที่ผู้ต้องหาอยู่ในการควบคุมตัวภายในห้องฝ่ายจัดการของห้างสรรพสินค้า
โดยแม่วัย 26 ปี ให้การว่า เนื่องจากโรงเรียนที่ลูกเรียนจะเปิดเทอมวันที่ 1 ก.ค. ลูกชายและลูกสาวต้องไปเรียนหนังสือ แต่ตนประสบปัญหาทางบ้านยากจน ตนและสามีตกงานจากเหตุการณ์โควิด ไม่มีใครจ้างงานมาหลายเดือน ต้องอยู่กันอย่างอดอยาก และไม่มีเงินซื้อชุดนักเรียนให้ลูกสาวและลูกชาย
จึงตัดสินใจมาขโมยชุดนักเรียนเพื่อให้ลูกได้ใส่ไปเรียนในวันพรุ่งนี้ แต่ก็ถูกรปภ.จับตัวไว้ได้ ยืนยันไม่คิดอยากเป็นขโมย แต่ไม่มีทางอื่นแล้วจริงๆ
ขณะที่ระหว่างเกิดเหตุ มีชาวบ้านที่เป็นลูกค้าเห็นเหตุการณ์ได้ จ่ายเงิน 1,200 บาท เป็นค่าสินค้า และเจรจากับผู้จัดการห้างไม่ให้แจ้งความในคดีอาญา ก่อนที่จะตกลงกันได้และตักเตือนไม่ให้ประพฤติเช่นนี้อีก ขณะที่ตำรวจได้บันทึกเหตุการณ์ไว้แล้วปล่อยตัวไป
หลังจากเกิดเหตุ พัฒนาสังคมและความมั่นคง จ.ชุมพร สั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบพบว่าผู้ก่อเหตุพักอาศัยอยู่ที่บ้านของนายจ้างใน อ.ทุ่งตะโก จ.ชุมพร มีลูกทั้งหมด 4 คน กำลังศึกษาชั้นอนุบาล 2-ป.4 พบว่าแม่วัย 26 ปี และสามีมีอาชีพรับจ้างกรีดยาง มีรายได้รวม 4-5 พันบาท
ที่ผ่านมาเกิดฝนตกจนไม่สามารถไปกรีดยางได้ ทำให้ไม่มีรายได้ วันเกิดเหตุมีเงินติดตัวเพียง 200 บาท แต่ต้องซื้อชุดนักเรียนให้ลูกไปเรียน จึงตัดสินใจขโมยชุดและรองเท้า โดยพม.เยียวยาเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย 3 พันบาท และประสานหน่วยงานฝึกอาชีพให้หารายได้เสริม
เหตุการณ์ดังกล่าวกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางเกี่ยวกับการกำหนดให้ต้องใส่ชุดนักเรียน เนื่องจากที่เคยให้เหตุผลว่าเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย ลดความเหลื่อมล้ำ ให้ทุกคนปฏิบัติเหมือนๆ กัน
เอาเข้าจริงแล้วก็ไม่ได้เป็นอย่างที่กล่าวอ้าง แถมยังสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคมเพิ่มมากขึ้น และเห็นได้ชัดเจนในขณะที่ประเทศต้องประสบภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ
แม้คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะระบุว่าไม่ได้ห้ามนักเรียนแต่งชุดไปรเวต แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการของสถานศึกษาจะกำหนด
แสดงให้เห็นว่าแม้ระดับนโยบายจะออกมาเช่นนี้ แต่หากระดับปฏิบัติไม่ทำตาม ก็ไม่มีทางเกิดขึ้นได้
พัฒนาการศึกษาเมืองไทยถึงชะงักงัน
สุดฉาวครูกล้อนผมน.ร.
นอกจากเรื่องชุดนักเรียน เรื่องทรงผมก็มีปัญหา เมื่อน.ส.จิน (นามสมมติ) อายุ 33 ปี แม่ค้าขายอาหารบนแพริมแม่น้ำมูน หาดบ้านแก้ง ต.กุดเมืองฮาม อ.ยางชุมน้อย จ.ศรีสะเกษ แม่ของเด็กนักเรียนชั้นม.3 อายุ 15 ปี โรงเรียนแห่งหนึ่งในอ.ยางชุมน้อย จ.ศรีสะเกษ โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่าลูกสาวถูกครูใช้กรรไกรกล้อนผมจนเสียทรง เนื่องจากอ้างว่าทรงผมผิดระเบียบ สร้างความอับอายให้กับเพื่อนๆ เป็นอย่างมาก
เมื่อสอบถามไปที่โรงเรียน ก็ไม่มีใครรับสาย ตนต้องการถามว่าครูใช้ระเบียบอะไรมากล้อนผมนักเรียนจนแหว่งขนาดนี้ ทำไมไม่เรียกไปตักเตือนและให้ไปตัดผมแก้ไข ที่สำคัญการตัดผมเช่นนี้จะทำให้เรียนเก่งมากกว่าเดิมหรือไม่
โดยเด็กนักเรียนที่ถูกตัดผมเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. โรงเรียนนัดประชุมเด็กนักเรียนม.3 ทุกคน เพื่อเก็บเงินค่าบำรุงโรงเรียน และรับสมุด-หนังสือเรียน โดยครูแจ้งที่ประชุมว่าเด็กนักเรียนหญิง ม.3 ทุกคนต้องตัดผมไม่ให้ยาวเลยคาง
ตนจึงไปตัดผมเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. จนกระทั่งเปิดเรียนวันที่ 1 ก.ค. เส้นผมก็ยาวลงมาเล็กน้อย ต่อมาวันที่ 3 ก.ค. ขณะเข้าแถวเคารพธงชาติ มีครูผู้ชายเดินมาตรวจผม และเห็นว่าผมยาวเลยคางมาเล็กน้อย จึงใช้กรรไกรตัดผมด้านขวาระดับติ่งหู ซึ่งสูงกว่าคางมาก ทำให้เกิดความอับอายมาก และมีเพื่อนนักเรียนอีก 3-4 คน ถูกปฏิบัติแบบเดียวกันด้วย
“ตั้งแต่ก่อนเปิดเทอม หนูพยายามสอบถามครูหลายคนว่านักเรียนชั้นม.3 ไว้ผมได้ถึงไหนกันแน่ ติ่งหู หรือคาง แต่ก็ไม่มีใครให้ความชัดเจน เลยไม่รู้ว่าต้องตัดยาวเท่าใด จนกระทั่งถูกครูผู้ชายมาตัดผมหน้าเสาธง ทำให้เกิดความอับอายอย่างมาก”
ขณะที่นางกัลยาณี ธรรมจารีย์ ประธานกรรมการสงเคราะห์เด็กและเยาวชน จ.ศรีสะเกษ ระบุว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ อยากให้แม่ของเด็กและโรงเรียนทำเหมือนไม่มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น เพราะเด็กได้รับผลกระทบ ดูแล้วทรงผมก็ไม่ได้เสียหายอะไรมาก
ถึงครูจะตัดผมเด็กแต่ยังเป็นทรงผมอยู่ อยากให้เรื่องนี้เงียบเร็วที่สุด ให้ทั้ง 2 ฝ่ายคุยกันโดยเร็ว
อยากให้โรงเรียนให้อภัยเด็ก เพราะอาจจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์
เด็กที่ถูกกระทำกลายเป็นคนผิดที่ต้องให้อภัย!??
ชงเชือด157ครูละเมิดสิทธิ์
ขณะที่ผอ.โรงเรียนดังกล่าว ระบุว่า ได้คุยกับแม่ของเด็กนักเรียนหญิงคนดังกล่าวแล้ว แม่ของเด็กขอโทษที่โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก เรื่องทรงผมนั้น ระเบียบโรงเรียนกำหนดไว้ชัดเจน ทรงผมจะต้องไม่ยาวเกินกว่าติ่งหู โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงเรื่องกฎระเบียบ มีผลงานวิชาการดีเด่น ผลงานด้านการจัดการเรียนการสอนดีเด่นมากมาย
ด้านนายชูชาติ แก้วนอก ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมเขต 28 (สพม.28) ระบุว่าหารือร่วมกับครูและผู้ปกครองแล้ว ได้ข้อสรุปร่วมกันว่าต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการไว้ทรงผมนักเรียน พ.ศ.2563 ซึ่งกำหนดให้นักเรียนชายและนักเรียนหญิงสามารถไว้ทรงผมสั้นหรือผมยาวก็ได้
กรณีนักเรียนชายที่ไว้ผมยาว ด้านข้างและด้านหลังจะต้องยาวไม่เลยตีนผม ส่วนนักเรียนหญิง ถ้ากรณีไว้ผมยาวต้องรวบผมให้เรียบร้อย เป็นระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการที่เราจะต้องปฏิบัติโดยเคร่งครัด
การกระทำของครูฝ่ายปกครองชี้ให้เห็นว่าเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุไปนิดหน่อย ซึ่งครูก็ได้ออกมายอมรับผิดและขอโทษแม่ของเด็กแล้ว ถือว่าเป็นบทเรียนในการที่จะเอาไปใช้ในการทำงานต่อไป ตนกำชับให้ทุกโรงเรียนไปแล้วว่า ต่อจากนี้ไปจะต้องไม่มีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นเป็นเด็ดขาด
นายประเสริฐ บุญเรือง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่า ทำหนังสือสั่งการไปยังสถานศึกษาทุกสังกัดให้ปฏิบัติตามระเบียบเรื่องการไว้ทรงผมนักเรียน โดยเฉพาะที่กำหนดขึ้นมาใหม่ในข้อ 5 เรื่องห้ามดัดผม ย้อมสีผม ไว้หนวดหรือเครา และห้ามตัดแต่งผมเป็นลวดลาย
นอกจากนี้ให้คณะกรรมการสถานศึกษาหรือคณะกรรมการบริหารโรงเรียน ต้องทำประชาพิจารณ์รับฟังความเห็น เพื่อวางระเบียบการไว้ทรงผมนักเรียนให้เป็นที่ยอมรับ ไม่ใช่มาจากผู้อำนวยการโรงเรียนเพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้
ส่วนการลงโทษนักเรียนที่กระทำผิด มีระเบียบกระทรวงศึกษาปี 2548 ให้ทำได้ 4 สถานคือ ว่ากล่าวตักเตือน ทำทัณฑ์บน ตัดคะแนนความประพฤติ และทำกิจกรรม เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
ห้ามลงโทษด้วยวิธีรุนแรงหรือกลั่นแกล้ง หรือลงโทษด้วยความโกรธ ดังนั้นการตัดผม กล้อนผม หรือตี ไม่สามารถทำได้
ขณะที่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรคก้าวไกล ระบุว่าได้นำเรื่องสิทธิเสรีภาพของเด็กที่ถูกกดขี่ เสนอเข้าสู่กมธ.การศึกษา สภาผู้แทนราษฎรแล้ว และเชิญปลัดกระทรวงศึกษา และเลขาฯ สพฐ.มาชี้แจง พร้อมหามาตรการป้องกัน โดยเสนอให้เอาผิดตามมาตรา 157 ซึ่งมีโทษร้ายแรงถึงขั้นไล่ออกจากราชการ
ซึ่งต้องจับตาดูว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงได้แค่ไหน อย่างไร!??