โพสต์โดย : Admin เมื่อ 7 ก.ค. 2563 06:08:12 น. เข้าชม 166413 ครั้ง
ในช่วงการระบาดของไวรัสโคโรนา หรือ โควิด 19 หน่วยงานราชการ รวมทั้งหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ก็ได้ร่วมมือกันในการอยู่บ้าน หยุดเชื้อเพื่อชาติ ด้วยการ "การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work From Home)"
ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ สำนักงานก.พ. เป็นเจ้าภาพหลักในการติดตาม ประเมินผล และรายงานผลการ Work form Home ของหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ทราบอุปสรรคปัญหา
โดยสำนักงานก.พ.ได้รายงานผลต่อครม.มาแล้ว 6 ครั้ง และเมื่อวันอังคารที่ 30 มิ.ย. 63 ก็มีการรายงานอีกครั้งเป็นครั้งที่ 7 โดยเริ่มจาก รายงานของส่วนราชการ ระบุว่า
รายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work From Home) และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ รายสัปดาห์ ครั้งที่ 7 ข้อมูล ณ วันที่ 23 มิถุนายน 2563 ซึ่งได้รับข้อมูลจาก 146 ส่วนราชการ คิดเป็น 99% ของส่วนราชการทั้งหมด (147 ส่วนราชการ) สรุปข้อมูลดังนี้
1. ส่วนราชการ 84 % (123 ส่วนราชการ) มีการมอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ และส่วนราชการ 38% (55 ส่วนราชการ) กำหนดให้มีจำนวนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง 50% ขึ้นไป (ลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งมี 60 ส่วนราชการ คิดเป็น 41%) โดยในจำนวนนี้มีส่วนราชการ 14% (21 ส่วนราชการ) มอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ทุกคนปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ (ลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งมี 23 ส่วนราชการ คิดเป็น 16%) ทั้งนี้ มีการมอบหมายให้ปฏิบัติงานที่บ้านในหลายรูปแบบ เช่น ปฏิบัติงานที่บ้านสลับกับการมาปฏิบัติงาน ณ สถานที่ตั้งของส่วนราชการวันเว้นวัน สัปดาห์ละ 1 วัน สัปดาห์ละ 2 วัน สัปดาห์เว้นสัปดาห์ เป็นต้น
ส่วนราชการ 16% (23 ส่วนราชการ) มีการมอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานทุกคนปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ (เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งมี 16 ส่วนราชการ คิดเป็น 10%)
2. การเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ
ส่วนราชการกำหนดให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่เหลื่อมเวลาการปฏิบัติงานเมื่อจำเป็นต้องปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ โดยส่วนใหญ่ 45% กำหนดการเหลื่อมเวลาการปฏิบัติงานเป็น 3 ช่วงเวลา คือ เวลา 7.30 – 15.30 น. เวลา 8.30 – 16.30 น. และเวลา 9.30 – 17.30 น. ส่วนราชการ 12% (17 ส่วนราชการ) กำหนดให้เหลื่อมเวลาการปฏิบัติงานมากกว่า 3 ช่วงเวลา และส่วนราชการ 16% (23 ส่วนราชการ) ไม่ได้กำหนดให้มีการเหลื่อมเวลาการปฏิบัติงาน
ส่วนราชการมอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งตามวันเวลาปกติในบางลักษณะงาน โดยลักษณะงานส่วนใหญ่ คือ งานให้บริการประชาชน งานพิจารณา อนุมัติ/อนุญาต งานด้านการข่าวและประชาสัมพันธ์ งานสนับสนุน เช่น การเงิน ธุรการรับ – ส่งเอกสาร เป็นต้น
3. แนวทางการบริหารงานของส่วนราชการ
การกำกับดูแลและบริหารผลการทำงาน ทุกส่วนราชการกำหนดให้มีระบบรายงานผลงานผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 57 ให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รายงานความก้าวหน้าของงานทั้งรายวันและรายสัปดาห์ ผ่าน Application LINE ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ และ Google Form
การนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้สนับสนุนการปฏิบัติงานส่วนราชการมีการนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้สนับสนุนการปฏิบัติงานโดยส่วนใหญ่เลือกใช้ Application LINE 99% Application Zone 68% Microsoft Team 34% และ Cisco Webex 27% ตามลำดับ
4. ข้อจำกัดของส่วนราชการ ในการมอบหมายข้าราชการและเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ ได้แก่
- การขาดความพร้อมด้านอุปกรณ์ปฏิบัติงานและสัญญาณเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
- การขาดความพร้อมของเจ้าหน้าที่ในการใช้เทคโนโลยีในการปฏิบัติงาน
- ความไม่สะดวกในการติดต่อสื่อสารและการประสานงานในกรณีเร่งด่วน
- งานเกี่ยวกับเอกสารราชการที่ยังคงมีความจำเป็นต้องปฏิบัติงานในสถานที่ตั้ง
5. ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปฏิบัติงานใน-นอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ ได้แก่
- การสนับสนุนอุปกรณ์การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งและค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานที่บ้าน เช่น ค่าโทรศัพท์ ค่าบริการอินเทอร์เน็ต เป็นต้น
- ในอนาคตควรให้มีนโยบายการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการเพื่อลดปัญหาการจราจร มลพิษทางอากาศและลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคของหน่วยงานรัฐ
จากนั้นสำนักงาน ก.พ. ได้ รายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work from Home) และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของรัฐวิสาหกิจ ระบุว่า
รัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) มีจำนวน 55 แห่ง โดยผลสัมฤทธิ์ฯ ของรัฐวิสาหกิจในสัปดาห์ช่วงระหว่างวันที่ 15 - 19 มิถุนายน 2563 สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1. การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของรัฐวิสาหกิจ (ปฏิบัติงานที่บ้านหรือที่พักหรือสถานที่ตามที่รัฐวิสาหกิจกำหนด)
รัฐวิสาหกิจ 41 แห่ง ยังคงดำเนินนโยบายการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งและมีรัฐวิสาหกิจ 14 แห่ง ที่ให้พนักงานกลับมาปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งตามปกติแล้ว เพิ่มขึ้น 4 แห่ง จากสัปดาห์ก่อนหน้า (ช่วงระหว่างวันที่ 8 – 12 มิถุนายน 2563) ทั้งนี้ จากจำนวนพนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจทั้งหมดจำนวน 272,548 คน มีพนักงานและลูกจ้างปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งจำนวน 32,162 คน หรือคิดเป็น 12%
2. การปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งของรัฐวิสาหกิจ
รัฐวิสาหกิจ 33 แห่ง ยังคงดำเนินนโยบายการปฏิบัติงานเหลื่อมเวลา และมีรัฐวิสาหกิจยกเลิกนโยบายการปฏิบัติงานเหลื่อมเวลาเพิ่มขึ้น 1 แห่งจากสัปดาห์ก่อนหน้า (ช่วงระหว่างวันที่ 8 – 12 มิถุนายน 2563) โดยมีช่วงเวลาเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่เวลา 6.00 น. – 10.30น.
3. แนวทางการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจ
รัฐวิสาหกิจที่ยังคงดำเนินนโยบายการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งมีการติดตามผลการปฏิบัติงานทั้งเป็นรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน ขึ้นอยู่กับประเภทของงาน ซึ่งรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่มีการกำกับ ติดตาม และบริหารผลการปฏิบัติงานผ่านแอปพลิเคชัน Line ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์และระบบการติดตามงานและการลงเวลาปฏิบัติงานที่องค์กรพัฒนาขึ้นเอง โดยรัฐวิสาหกิจยังคงใช้แอปพลิเคชัน Line มาสนับสนุนการปฏิบัติงานมากที่สุด
ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจมีข้อเสนอแนะในการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งว่า ควรเตรียมอุปกรณ์และระบบเพื่อรองรับการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งให้เพียงพอ และควรพัฒนาระบบการปฏิบัติงานขององค์กรให้สามารถรองรับการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งได้ ซึ่งรวมถึงมีการจัดเก็บข้อมูลหรือเอกสารให้อยู่ในรูปแบบของเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งควรพิจารณาลักษณะงานที่จำเป็นต้องปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งเท่านั้น เช่น การให้บริการประชาชน และสำหรับงานอื่นที่ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติงานในสถานที่ตั้ง ควรพิจารณาเปลี่ยนรูปแบบเป็นการปฏบัติงานนอกสถานที่ตั้งแทน
ที่มา