โพสต์โดย : Admin เมื่อ 14 พ.ค. 2561 13:15:15 น. เข้าชม 166421 ครั้ง
ประเทศไทยนั้น ถือเป็นประเทศลำดับต้นๆ ที่มีการใช้การไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กเพื่อขายของ ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋า รองเท้า อาหาร พ่อค้า แม่ค้า ล้วนแต่เลือกการไลฟ์มาเป็นช่องทางหนึ่งในการโฆษณาและขายของกันจำนวนมาก
โดย น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวว่า การไลฟ์สดขายสินค้าผ่านทางโซเชียลมีเดียด้วย เช่น เฟซบุ๊ก ยูทูป ซึ่งทุกวันนี้พบเห็นได้มากขึ้น และมีประเด็นที่น่าจับตา คือ เรื่องของการโฆษณาขณะการไลฟ์สดขายสินค้า โดยพบว่ากว่าร้อยละ 35-36 สินค้าจะเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร ซึ่งตามหลักแล้วต้องมีการขออนุญาตโฆษณาอาหารจากทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อน ซึ่งควรมีการตรวจสอบว่า การไลฟ์สดและขายของเหล่านี้ที่มีการโฆษณาได้มีการขออนุญาต อย.แล้วหรือไม่ และโฆษณาเกินจริงหรือไม่
น.ส.สารีกล่าวว่า ขณะเดียวกันยังมีเรื่องของการโฆษณาว่า จะมีการชิงโชคแจกของรางวัลด้วยวิธีต่างๆ ตรงนี้ก็ต้องมีการขออนุญาตการชิงโชคจากทางกระทรวงมหาดไทยตาม พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ. 2478 ด้วย มิเช่นนั้นถือว่าผิดกฎหมาย ซึ่ง มาตรา 12 กำหนดว่า ผู้ใดจัดให้มีการเล่น หรือทำอุบายล่อ ช่วยประกาศโฆษณาหรือชักชวนโดยทางตรงหรือทางอ้อม ให้ผู้อื่นเข้าเล่นหรือเข้าพนันในการเล่น ซึ่งมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานหรือรับอนุญาตแล้วแต่เล่นพลิกแพลง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไปจนถึง 3 ปี และปรับตั้งแต่ 500 บาท ขึ้นไปจนถึง 5,000 บาท
“การชิงโชคแจกของผ่านทางไลฟ์สดต่างๆ ของคนขายของออนไลน์ ทุกวันนี้ยังมีช่องว่างอยู่ เพราะไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า มีการขออนุญาตการชิงโชคจากทางมหาดไทยจริงหรือไม่ และที่น่ากังวลคือ การโฆษณาว่าจะแจกของหรือชิงโชคต่างๆ นั้น มีการให้ของรางวัลแก่ผู้บริโภคจริงหรือไม่ ซึ่งการโฆษณาจะยึดหลักว่าจะต้องไม่เกินจริง ไม่เป็นเท็จ หรือทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญ ดังนั้น เมื่อมีการโฆษณาว่าจะแจกของก็ต้องมีการแจกจริง มิเช่นนั้นก็ถือว่าเข้าข่ายโฆษณาหลอกลวง ซึ่งจะมีเรื่องของกฎกระทรวงฉบับที่ 5 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย” น.ส.สารีกล่าว และว่า การตรวจสอบว่าการไลฟ์สดขายสินค้านั้น ได้รับขออนุญาตการโฆษณาอาหารและการชิงโชคแล้วหรือไม่นั้นเป็นเรื่องยาก ดังนั้น ผู้บริโภคต้องพิจารณาให้ดีว่าจะได้ตามนั้นจริงหรือไม่ หรือหากมีการโฆษณาแบบโอเวอร์ก็ต้องระมัดระวัง
ผู้สื่อข่าวถามว่ามีผู้ร้องเรียนเข้ามามากหรือไม่ กรณีเป็นผู้โชคดีได้ของรางวัลแล้วไม่ได้รับรางวัลตามที่โฆษณา น.ส.สารีกล่าวว่า มีผู้ร้องเรียนเข้ามาเช่นกัน แต่ต้องไปรวบรวมข้อมูลก่อนว่ามีมากน้อยแค่ไหนอย่างไร ซึ่งจริงๆ แล้วประเด็นเหล่านี้มองว่าทาง สคบ.ต้องออกมาตรวจสอบและจับตาเฝ้าระวังด้วย
อนึ่ง กฎกระทรวงฉบับที่ 5 (2534) ที่ออกตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 เกี่ยวกับเรื่องการเสี่ยงโชค กำหนดให้ข้อความโฆษณาสินค้าหรือบริการที่ระบุหรือประกาศว่าผู้ประกอบธุรกิจจัดให้มีการแถมพกหรือรางวัลด้วยการเสี่ยงโชค ต้องระบุรายละเอียด ได้แก่ 1. หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข หรือข้อกำหนดในการเสี่ยงโชคหรือชิงรางวัล 2. วัน เดือน ปีที่เริ่มต้นและสิ้นสุดของการจัดให้มีการเสี่ยงโชค 3. ประเภทและลักษณะของแถมพกหรือรางวัล จำนวนและมูลค่าของแถมพก หรือรางวัลแต่ละสิ่งหรือมูลค่ารวมในแต่ละประเภท 4. เขตหรือถิ่นที่มีการจัดให้มีการเสี่ยงชิงโชคหรือการประกวดชิงรางวัล เว้นกรณีที่เป็นการจัดให้มีขึ้นทั่วราชอาณาจักร และ 5. สื่อโฆษณาที่จะใช้ในการประกาศรายชื่อผู้ได้รับของแถมพกหรือรางวัลจากการเสี่ยงโชคหรือการประกวดชิงรางวัล
ขอบคุณที่มา เรื่องเล่าเช้านี้