กก.ปฏิรูปนำร่องป.1-3เลิกเรียน 8กลุ่มสาระ! ชี้จะต้องทำให้เด็กช่วงชั้นนี้เรียนรู้การใช้ชีวิตเพื่ออนาคต
เมื่อวันที่ 27 ก.พ. ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) รศ.ทิศนา แขมมณี กรรมการในคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม กอปศ. ว่า ได้นำเสนอโครงการวิจัยและพัฒนากรอบสมรรถนะผู้เรียนระดับประถมศึกษาตอนต้น (ป.1-3) สำหรับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่าเด็กในช่วงชั้นนี้จำเป็นต้องมีความยืดหยุ่นตอบสนองต่อความแตกต่างของเด็ก เพราะเด็กอยู่ในช่วงรอยต่อระหว่างปฐมวัยสู่ประถมศึกษา ฉะนั้นการกำหนด 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ให้กับเด็กในช่วงชั้นนี้จึงถือว่ามากจนเกินไป เมื่อมีตัวชี้วัดเยอะครูจึงต้องเร่งการสอน เพื่อให้เด็กได้ไปสอบวัดความรู้และรองรับการประเมินต่างๆ ส่งผลต่อคุณภาพที่เด็กจะได้รับโดยตรง
รศ.ทิศนา กล่าวต่อว่า ดังนั้น กอปศ.จึงมีแนวคิดปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอนใหม่ให้เหมาะสมกับช่วงวัยนี้ โดยสร้างชุดวัดสมรรถนะของเด็กวัยนี้ เพื่อให้เด็กอยู่ได้รับความรู้ที่เท่าทันต่อโลกยุคปัจจุบัน โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการทำวิจัยสำหรับการปฏิรูปหลักสูตรใหม่ ร่วมกับ สกศ.และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อสร้างสมรรถนะให้ตอบโจทย์กับเด็กในช่วงชั้นนี้ เช่น การเรียนภาษาอังกฤษ หรือคณิตศาสตร์ ของเด็กในวัยนี้ควรจะอยู่ในระดับไหน จะต้องไม่ใช่การเรียนเพื่อไปสอบแข่งขันหรือไปเรียนต่อ แต่เรียนเพื่อให้ตนเองมีสมรรถนะไว้ใช้สำหรับอนาคต โดยชุดสร้างสมรรถนะการเรียนรู้ของเด็กช่วงชั้นป.1-3 จะแล้วเสร็จในเดือน ก.ย. จากนั้นจะเริ่มนำร่องสร้างกรอบสมรรถะผู้เรียนในระดับประถมศึกษาตอนต้น โดยกรอบดังกล่าวจะเป็นต้นแบบสำหรับการดำเนินการในช่วงชั้นต่อๆ ไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการยกเลิกการเรียน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้หรือไม่ ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธาน กอปศ. กล่าวว่า ประเด็นนี้สามารถทุบโต๊ะได้เลยว่าสภาพการเรียน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ในปัจจุบันไม่มีลักษณะที่พึงประสงค์ เพราะทำให้เด็กเกิดการแข่งขันต้องไปเรียนกวดวิชาเพื่อสอบเข้าเรียน ป.1 ซึ่งการเรียนของเด็กในช่วงชั้นนี้จะต้องทำให้เด็กเรียนรู้การใช้ชีวิตเพื่ออนาคตของตัวเอง พร้อมกับพัฒนาชีวิตของตัวเองได้เช่นกัน ดังนั้นจึงบอกได้เลยว่าในระดับประถมศึกษาตอนต้นไม่ควรมีการเรียน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ซึ่งจะต้องได้รับการแก้ไขต่อไป