โพสต์โดย : Admin เมื่อ 19 ม.ค. 2561 11:14:10 น. เข้าชม 166542 ครั้ง
จากคดีแย่งชิงสิทธิ์ลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 เงินรางวัล 30 ล้านบาท ระหว่างนายปรีชา ใคร่ครวญ อายุ 50 ปี ครูชำนาญการพิเศษโรงเรียนเทพมงคลรังษี ต.บ้านเหนือ อ.เมืองกาญจนบุรี ที่อ้างว่าถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 หมายเลข 533726 งวดประจำวันที่ 1 พ.ย.60 จำนวน 1 ชุด 5 ใบ แต่ไม่ได้ขึ้นเงินเพราะลอตเตอรี่หาย ต่อมามี ร.ต.ท.จรูญ วิมูล อดีตตำรวจ เป็นผู้ไปขึ้นเงินรางวัล ทำให้ต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิ์ยืนยันเป็นของตัวเอง มีการแจ้งความดำเนินคดีและอายัดเงินรางวัล ตำรวจบก.ป. ต้องเข้าร่วมคลี่คลายคดีเนื่องจากเป็นคดีที่สังคมให้ความสนใจ ก่อนนัดหมายให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายเดินทางมาเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอ เพื่อนำไปตรวจเปรียบเทียบกับดีเอ็นเอที่พบในลอตเตอรี่เจ้าปัญหาเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2560 ที่ผ่านมา
ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 19 ม.ค. ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ชั้น 8 อาคารบี นายสมณ์ พรหมรส ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ พร้อมด้วยนพ.วรวีร์ ไวยวุฒิ ผอ.กองสารพันธุกรรม พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ รองผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และพ.ต.ท.หญิง วิวรรณ สุวรรณสัมฤทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านลายพิมพ์นิ้วมือ ร่วมกันแถลงผลการตรวจดีเอ็นเอ และลายนิ้วมือ บนลอตเตอรี่ดังกล่าว
นายสมณ์ กล่าวว่า เราได้รับหนังสือจากทางพนักงานสอบสวนสภ.เมืองกาญจนบุรี ให้ช่วยตรวจสอบหาลายนิ้วมือแฝงและสารพันธุกรรม ของสลากกินแบ่งรัฐบาลรางวัลที่ 1 งวดที่ 41 ประจำวันที่ 1 พ.ย. 2560 หมายเลข 533726 จำนวน5 ชุด ประกอบด้วยชุดที่ 4, 7, 14, 15 และ22 โดยมีการตรวจพิสูจน์บุคคลจำนวน 5 คนคือ 1.ร.ต.ท.จรูญ วิมูล 2.นางลาวัลย์ วิมูล 3.นายปรีชา ใคร่ครวญ 4.น.ส.รัตนาพร สุภาทิพย์ 5.น.ส.พัชริดา พรมตา โดยทางสถาบันได้ตั้งคณะกรรมการออกเป็น 2 ชุด คือชุดตรวจสารทางพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ และชุดตรวจสอบลายนิ้วมือ
นายสมณ์ กล่าวต่อว่า ผลการตรวจพิสูจน์ทางรอยนิ้วมือ ได้ใช้วิธีการทางเคมีและวิธีการทางแสง ระหว่างวันที่ 22 ธ.ค.2560-3 ม.ค. ที่ผ่านมา ผลการตรวจพบลายนิ้วมือยืนยันตัวบุคคลจำนวน 2 รอย บนสลากกินแบ่งรัฐบาลชุดที่ 7 และ 22 โดยชุดที่ 7 ปรากฎพบลายนิ้วหัวแม่มือ ของมือข้างซ้าย บริเวณตรงกลางสลาก เป็นรอยลักษณะมีการลงน้ำหนัก และชุดที่ 22 ปรากฎนิ้วก้อย ของมือข้างซ้าย ซึ่งทั้ง 2 รอยที่ตรวจพบตรงกับลายนิ้วมือของร.ต.ท.จรูญ วิมูล
นายสมณ์ กล่าวอีกว่า เจ้าหน้าที่จึงนำสลากดังกล่าวมาตรวจพิสูจน์ทางพันธุกรรม และได้ดำเนินการตรวจพิสูจน์โดยใช้เทคนิค Polymmerase Chain Reaction(PCR) ระหว่างวันที่ 4-11 ม.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งผลตรวจทางพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ ผลปรากฎว่ามีสารพันธุกรรมแบบผสม หรือจะพูดได้ว่ามีพันธุกรรมหลายบุคคลปะปนกันเป็นจำนวนมาก และมีสารพันธุกรรมน้อยเกินไปจนไม่สามารถแยกแยะรูปแบบของสารพันธุกรรมของบุคคลได้อย่างชัดเจน จึงสรุปได้ว่าไม่สามารถนำไปเปรียบเทียบกับสารพันธุกรรมของบุคคลทั้ง 5 คนได้
“ผลการตรวจดังกล่าวทางสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ขอยืนยันว่าเป็นการตรวจที่ได้มาตรฐานสากล ซึ่งทางเราไม่สามารถตรวจพบหรือไม่สามารถยืนยันได้ ก็จะบอกไปตามความจริง ตามหลักฐานและผลตรวจโดยจะไม่มีการตรวจซ้ำอีก เพราะะผลการตรวจที่ออกมาเป็นที่แน่ชัด และยืนยันจากทางผู้เชี่ยวชาญแล้ว หลังจากนี้จะมอบผลตรวจให้กับทางพนักงานสอบสวนสภ.เมืองกาญจนบุรี และมอบสลากกินแบ่งรัฐบาลดังกล่าวคืนให้กับกองสลาก ซึ่งหลังจากนี้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป” ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กล่าว
พ.ต.ท.หญิง วิวรรณ กล่าวว่า ผลลายนิ้วมือดังกล่าวเป็นผลที่ออกมาตามการตรวจพิสูจน์ โดยลายนิ้วมือแต่ละบุคคลอาจปรากฎลายนิ้วมือชัดเจนที่แตกต่างกัน โดยต้องดูที่ปริมาณเหงื่อของแต่ละบุคคล ยิ่งมากยิ่งเห็นชัด และระยะเวลาไม่สามารถทำให้ผลตรวจคลาดเคลื่อน ผลตรวจจะคลาดเคลื่อนหากหลักฐานได้รับความเสียหายแต่หลักฐานในครั้งนี้คือลอตเตอรี่ดังกล่าวมีความสมบูรณ์ไม่มีร่องรอยฉีกขาด
พ.ต.ท.หญิง วิวรรณ กล่าวต่ออีกว่า ขั้นตอนในการตรวจลายนิ้วมือด้วยสารเคมี และตนมีลายนิ้วมือ 5 คน จากการตรวจสอบไม่มีลายเส้นที่ทับซ้อนกัน มีแต่ลายเส้นที่ติดอยู่ที่ขอบของลอตเตอรี่ ขอบทางด้านข้าง แต่มีรอยเพียงนิดๆ ซึ่งไม่สามารถยืนยันตัวบุคคลได้ จากการตรวจพบลายนิ้วมือมากกว่า 2 รอย แต่สามารถตรวจสอบลายนิ้วมือส่วนที่สามารถยืนยันตัวบุคคลได้มีเพียงแค่ 2 รอยเท่านั้น คือบริเวณด้านขอบซ้ายบน ด้านหลังของลอตเตอรี่ พบรอยนิ้วก้อยซ้ายและบริเวณกลางลอตเตอรี่พบรอยนิ้วหัวแม่มือซ้าย พบเป็นตรงกับรอยนิ้วมือของร.ต.ท.จรูญ วิมูล อดีตนายตำรวจ ส่วนรอยที่เหลือนั่น ใช้ยืนยันตัวบุคคลไม่ได้ เพราะลายเส้นที่ติดอยู่บนตัวลอตเตอรี่นั้นมันน้อยมาก
ด้านนพ.วรวีร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการตรวจสารพันธุกรรมในครั้งนี้ ไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้เนื่องจากมีสารพันธุกรรมจำนวนมาก ซึ่งทางเราใช้การตรวจพิสูจน์ตามหลักการเดียวกันกับเจ้าหน้าที่เอฟบีไอ (FBI) ซึ่งผลการตรวจดีเอ็นเอนั้น ถ้าเป็นวัตถุสามารถระบุได้ว่าใครเคยสัมผัสวัตถุดังกล่าวได้แต่จะไม่สามารถระบุได้ว่าใครเป็นเจ้าของวัตถุดังกล่าว
ที่มา : https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_714704