โพสต์โดย : Admin เมื่อ 29 พ.ย. 2560 11:38:17 น. เข้าชม 166418 ครั้ง
จากความขัดแย้งระหว่างสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กับ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง นั้น วันนี้ (28 พ.ย.) นายสุรินทร์ แก้วมณี ผู้ช่วยปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะได้รับมอบหมายให้ดูแลการบริหารจัดการศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และ ศึกษาธิการภาค (ศธภ.) กล่าวว่า ผู้บริหารระดับสูงได้พูดคุยกันมาตลอด โดยขณะนี้ได้วางกรอบแนวคิดเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาใน 5 เรื่อง ดังนี้ เรื่องแรก การจัดสรรกรอบอัตรากำลังทั้งในส่วนของสำนักงาน ศธจ. และสพท. ให้เหมาะสมกับปริมาณงาน โดยสำนักงาน ศธจ. จะมีตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามาตรา 38 ค.(2) ประมาณ 45 อัตรา ทั้งนี้ยังไม่รวมตำแหน่งศึกษานิเทศก์ ส่วน สพท.แต่ละแห่งจะมี 50-60 อัตรา ซึ่งขณะนี้มีปัญหาเกลี่ยอัตรากำลังจาก สพท.มาสำนักงาน ศธจ.ทำให้ สพท.บางแห่งไม่สบายใจ
นายสุรินทร์ กล่าวต่อไปว่า เรื่องที่ 2 ปัญหาเกี่ยวกับอำนาจของ ผอ.สพท.และ ศธจ. โดยให้คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายของ ศธ. ได้ตีความข้อกฎหมายในอำนาจตามมาตรา 53 (3) และ (4) ของ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 ให้ ผอ.สพท.เป็นผู้มีอำนาจการบรรจุแต่งตั้ง กับ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของ ศธ.ข้อที่ 13 ที่ระบุการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัดหรือกรุงเทพมหานคร ตามมาตรา 53 (3) และ (4) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 ให้ศึกษาธิการจังหวัด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) เป็นผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้ง เรื่องที่ 3.จัดทำแผนบูรณาการร่วมกันระหว่างสำนักงาน ศธจ. และ สพท. เรื่องที่4.จัดระบบการนิเทศติดตาม และ เรื่องที่ 5. จัดทำคูมือ ขั้นตอนการทำงาน ศธจ. และ สพท. เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
“ ขณะนี้คณะอนุกรรมการกฎหมาย ของ ศธ.ได้พิจารณาแล้ว โดยจะเสนอให้คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค (คปภ.)พิจารณา 2 แนวทาง คือ 1. ตีความตามนัยของ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูฯทั้งกระบวน หรือ จะตีความตามนัยคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 19 เช่น ถ้าตีความตามนัยคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 19 เรื่องใดที่เข้าพิจารณาใน กศจ. ให้ ศธจ.ลงนามในคำสั่ง ถ้าเรื่องใดที่ไม่เข้าพิจารณาใน กศจ.ให้ ผอ.สพท.ลงนามได้ อาทิ ให้รักษาการในตำแหน่ง ให้รักษาราชการแทน การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยไม่ร้ายแรง เป็นต้น เพื่อให้ผอ.สพท.มีอำนาจเหลืออยู่บ้าง ทั้งนี้ เมื่อ คปภ.พิจารณาว่าจะตีความแนวทางใดแล้ว ก็จะเสนอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่าแนวทางนั้นชอบด้วยข้อกฎหมายทั้งระบบหรือไม่” นายสุรินทร์ กล่าวและว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องใหญ่ ความเปลี่ยนแปลงต้องอาศัยเวลา โดยให้ ศธจ.เป็นหน่วยสนับสนุนให้ฝ่ายปฏิบัติคือ สพท.ทำงานได้อย่างราบรื่น ซึ่งตนอยากให้ สพท.หลุดจากกรอบแนวคิดเดิม คิดถึงการจัดการศึกษาที่ต้องเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ มีเป้าหมายที่ชัดเจน คำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นกับประเทศและนักเรียนเป็นหลัก.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันพุธที่ 29 พฤศจิกายน 2560 เวลา 15.20 น.