โพสต์โดย : Admin เมื่อ 10 พ.ย. 2560 14:36:32 น. เข้าชม 166486 ครั้ง
"บุญรักษ์" ยันไม่มีนโยบายสอบเข้า ป.1 เป็นอำนาจโรงเรียนบริหารจัดการ เตรียมศึกษารายละเอียด หารือการดำเนินการ ย้ำปฏิรูปการศึกษาเน้นให้เด็กค้นพบตัวเอง กระตุ้นโรงเรียนจัดโปรแกรมการเรียนการสอนให้มีความหลากหลาย
นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา มีข้อเสนอให้ยกเลิกการสอบคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนต่อในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ว่า ตนคิดว่าในหลักการควรที่จะไม่ให้มีการสอบคัดเลือก เพราะการศึกษาในระดับ ป.1 ถือเป็นการศึกษาภาคบังคับที่เด็กทุกคนจะต้องได้เรียน ซึ่งเรื่องนี้ทางกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก็ไม่ได้มีนโยบายในเรื่องการสอบคัดเลือกเด็กเพื่อเข้าเรียนต่อในชั้น ป.1 ด้วย แต่วิธีการสอบคัดเลือกอาจจะเป็นวิธีการของบางโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูง เพราะต้องยอมรับว่าโรงเรียนมีความอิสระที่จะบริหารจัดการเกี่ยวกับงานวิชาการ แต่ไม่ใช่นโยบายจากทางส่วนกลางว่าจะต้องมีการสอบเพื่อคัดเลือกเด็กเข้าเรียนต่อ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาในรายละเอียดว่ามีโรงเรียนในสังกัด สพฐ.ที่ดำเนินการในลักษณะดังกล่าวอยู่หรือไม่ จำนวนมากน้อยเท่าไร แล้วจะมีการหารือเกี่ยวกับการดำเนินการต่อไป
"เมื่อคณะกรรมการอิสระฯ ให้ความเห็นมา สพฐ.ก็เห็นพ้องอยู่แล้ว เพราะ สพฐ.มีโรงเรียนมากมายที่ต้องการให้เด็กเข้าเรียน เราพร้อมรับเด็กทุกคน" เลขาฯ กพฐ.กล่าว
นายบุญรักษ์ยังกล่าวภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. และผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ว่าตนได้เน้นย้ำประเด็นเรื่องการปฏิรูปการศึกษาที่จะต้องเน้นให้เด็กได้ค้นพบตัวตน โดยเฉพาะการเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าหลักสูตรจะมีการแบ่งกลุ่มสาระวิชาเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มวิชาพื้นฐาน และกลุ่มวิชาเพิ่มเติม ที่ สพฐ.จะกระตุ้นโรงเรียนได้เปลี่ยนมุมมองการจัดการเรียนการสอนในกลุ่มวิชาเพิ่มเติม จากเดิมที่จัดการเรียนการสอนตามความพร้อมของโรงเรียน ให้มาจัดตามความต้องการของเด็ก จัดโปรแกรมการเรียนการสอนให้มีความหลากหลาย เพราะว่าเด็กแต่ละคนมีความถนัดไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะเก่งวิชาการ แต่บางคนอาจจะมีความสนใจทักษะที่จะใช้ในการประกอบอาชีพได้ และเมื่อเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เด็กก็จะรู้ว่าตัวถนัดและต้องการเรียนต่อไปในทิศทางใด และสำหรับระดับมัธยมศึกษาตอนปลายก็จะต้องให้เด็กค้นพบตัวตนแล้วได้มีการฝึกฝนความถนัดตามความสนใจ
"เร็วๆ นี้ผมจะเดินทางไปตรวจเยี่ยมโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ซึ่งเป็นโรงเรียนต้นแบบในการจัดโปรแกรมการเรียนเพื่อชีวิต โดยจะมีการเรียนเรื่องการทำโรงสีข้าว การทำนา เลี้ยงสัตว์ หรือแม้กระทั่งงานหัตถกรรมและอุตสาหกรรมด้วย เพื่อที่จะจัดทำโปรแกรมรวมการเรียนทักษะอาชีพที่มีอยู่ในมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายทั่วประเทศในรูปแบบวิดีโอ เก็บไว้ในคลาวด์ เพื่อที่จะให้เด็กที่สนใจได้เรียนทักษะอาชีพแบบหลักสูตรระยะสั้นๆ จนค้นว่าตัวตนของตนเอง" เลขาฯ กพฐ.กล่าว.
Credit thaipost