โพสต์โดย : Admin เมื่อ 1 ก.ย. 2560 01:25:24 น. เข้าชม 167057 ครั้ง
จากสถานการณ์การศึกษาของชาติ ที่ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้เผยผลสำรวจพบว่า เด็กไทยอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ทั้งนี้ สพฐ. ไม่ได้นิ่งนอนใจได้ส่งเสริมให้มีการจัดการเรียนการสอนแบบแจกลูกสะกดคำและส่งเสริมแนวทางการจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับการพัฒนาสมอง (Brain Based Lerning : BBL) เกี่ยวเนื่องกับเรื่องนี้ทางโครงการภาคีพูนพลังครู ดำเนินงานโดยองค์กรภาคีเครือข่ายดำเนินการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาและพัฒนาครู จำนวน 23 ภาคี ได้รวมครูในเครือข่ายต่างๆ มาร่วมแบ่งปันความรู้และทักษะ และร่วมเรียนรู้ ในเวทีพูนพลังครูครั้งที่ 1 ครูผู้สร้างคุณลักษณะนิสัยที่ดี ทำให้พบว่ามีครูหลายๆ ท่าน มี HOW TO ในการเรียนการสอนแบบใหม่ๆ ที่ได้ผล หนึ่งในนั้นคือ "ครูศิริลักษณ์ ชมพูคำ" จากโรงเรียนบ้านหินลาด อ.เมือง จ.มหาสารคาม ภายใต้ศูนย์พัฒนาวิชาการเพื่อการเรียนรู้มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่มี HOW TO การแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ทั้งโรงเรียนด้วยจิตอาสา ด้วยบันได 6 ขั้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการสนับสนุนของ สพฐ.ในขณะนี้ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่เพื่อนครูทั่วประเทศได้ร่วมเรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้ให้เข้ากับนักเรียนของตนเอง มูลนิธิสยามกัมมาจล ขอนำเสนอเรื่องราวของครูท่านนี้สู่สาธารณชน
ครูศิริลักษณ์ ชมพูคำ หรือ แม่ตุ้ม ของเด็กๆ ที่มีความเชื่อมั่นว่า "ทักษะการอ่านเขียนคือพื้นฐานสำคัญในการเรียนรู้ด้านอื่นๆ เป็นเครื่องมือที่จะทำให้นักเรียนได้พัฒนาตนเองและป้องกันไม่ให้ออกนอกลู่นอกทางหลุดไปสู่หลุมดำของสังคม" และกว่า 20 ปีของการเป็นครูสอนวิชาภาษาไทยชั้นประถมศึกษา ระดับ ป.4-ป.5 ครูศิริลักษณ์สังเกตเห็นว่า ในแต่ละห้องจะมีนักเรียนที่มีปัญหาในการอ่านเขียนเกินครึ่ง และในจำนวนนั้นเป็นเด็กพิเศษที่เรียกว่า LD รวมอยู่ด้วย ครูศิริลักษณ์มองเห็นปัญหาและไม่ได้นิ่งนอนใจ เริ่มแก้ปัญหาด้วยการสอนเพิ่มเติม ให้กลุ่มที่มีปัญหาการอ่านเขียน ทั้งในห้องเรียนและนอกเวลา แต่ครูพบว่าการมาฝึกฝนเด็กในช่วงประถมปลายทำให้เด็กสูญเสียโอกาสที่จะเรียนรู้ตั้งแต่เริ่มเรียนและการสอนที่ไม่ต่อเนื่องเด็กจะมีพัฒนาการล่าช้ามาก
เมื่อครูตุ้มเห็นว่าการอ่านไม่ออกเขียนสะกดคำไม่ได้ เป็นปัญหาสำคัญเร่งด่วนต้องแก้ให้เร็วที่สุด ครูจึงออกแบบเครื่องมือใช้ทำกิจกรรมเพื่อตอบโจทย์ให้ตรงกับปัญหา เพื่อแก้ปัญหานี้ ครูศิริลักษณ์คิดค้นวิธีด้วยการใช้บันได 6 ขั้นสร้างการเรียนรู้ร่วมกับการชักชวนนักเรียนที่มีทักษะด้านภาษาไทยค่อนข้างดี
มาเป็นจิตอาสา เพื่อให้มาช่วยสอนน้องๆ ตั้งแต่ ป.2 และเพื่อนๆ ในชั้นเดียวกัน ก่อนจะมาทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง ครูตุ้มจะเริ่มอบรมและฝึกทักษะการเป็นพี่เลี้ยงให้นักเรียนจิตอาสาเหล่านี้ก่อน ทั้งวิธีการสอนด้านการอ่านเขียน และการสร้างลักษณะนิสัยการเป็นผู้ให้กับนักเรียนกลุ่มที่มีความบกพร่องด้านการเรียนรู้ เพื่อให้นักเรียนผู้สอนและนักเรียนพิเศษมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและให้จับคู่เป็นบัดดี้คอยช่วยเหลือกันในทุกเรื่อง กระตุ้นให้เด็กพิเศษเกิดการเปลี่ยนแปลงได้เร็วขึ้น ผลพลอยได้เด็กอาสาก็จะเก่งขึ้นและมีจิตใจที่อ่อนโยนขึ้นด้วย
ครูตุ้มเล่าต่อว่า การออกแบบกระบวนการ 6 ขั้น พัฒนาให้อ่านออกเขียนได้ มีจุดเด่นคือในแต่ละขั้นจะซอยย่อยเนื้อหาออกเป็นขั้นเริ่มจากง่ายไปหายากและซับซ้อนยิ่งขึ้น ทำให้ครูกำหนดเป้าหมายการพัฒนานักเรียนตามขั้นตอนทีละขั้นโดยไม่ข้ามขั้น เห็นความสำเร็จง่ายนักเรียนจะเกิดแรงบันดาลใจในการเรียนเมื่อประสพผลสำเร็จ นักเรียน
จะรู้สึกภูมิใจในตัวเองมีความมั่นใจว่าตัวเองก็สามารถเรียนรู้ได้ ครูสามารถวัดประเมินผลความก้าวหน้าของนักเรียนในแต่ละขั้นอย่างชัดเจน และนักเรียนก็มีแรงบันดาลใจในการเรียนขั้นต่อไปด้วยความกระตือรือร้น มีความสุขมีความคาดหวังได้อย่างมั่นใจว่าตนเองจะต้องทำได้โดยไม่รู้สึกว่ายากเกินไป บันได 6 ขั้น มีดังนี้
ขั้นที่ 1 ฝึกอ่านทุกวันในช่วงพักกลางวันเพื่อความต่อเนื่อง โดยใช้หนังสือเรียน นิทาน คำ อักษรไทย
ขั้นที่ 2 ฝึกการอ่านควบคู่กับการเขียน โดยใช้อักษรไทย คำ ประโยค นิทาน
ขั้นที่ 3 การฝึกคัดลายมือ นอกจากทำให้ลายมือสวยงามแล้วยังเป็นการช่วยในการจดจำรูปคำต่างๆ ได้มากขึ้นด้วย
ขั้นที่ 4 การวาดรูปประกอบคำ ด้วยความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และสนุกไปกับงาน โดยมีการจำแนกคำออกมาเพื่อให้นักเรียนเข้าใจการผสมคำมากขึ้น
ขั้นที่ 5 การนำคำมาแต่งเป็นประโยคสื่อสารรูปหรือเหตุการณ์จริง เช่น ใคร+ทำอะไร, ใคร+ทำอะไร+กับใคร
ขั้นที่ 6 การเขียนคำตามภาพวาดโดยให้นักเรียนมีอิสระตามความคิดของนักเรียนเอง โดยกระบวนการ 6 ขั้นนี้ เด็กๆ จะต้องผ่านไปทีละขั้นโดยมีนักเรียนอาสาและครูตุ้มคอยช่วยกัน และเมื่อครบ 6 ขั้นแล้ว ก็เริ่มสอนขั้นที่ 1-6 ใหม่ขยับจากยากขึ้นมาทีละน้อยๆ ทำอย่างนี้ทำให้เห็นผลงานที่ออกมามองเห็นเด็กมีความภูมิใจในตัวเองเพราะการอ่านออกเขียนได้
ตัวอย่าง เด็กชายศิรินันท์ แสงห้าว หรือน้องเดียว เป็นนักเรียนพิเศษที่ครูรับเข้ามาดูแลตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เป็นคนเฉื่อยชาการรับรู้ช้า เมื่อเข้าร่วมกิจกรรมทำให้ผลการอ่านการเขียนเริ่มพัฒนาดีขึ้นเมื่อน้องเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 น้องเดียวสามารถอ่านหนังสือในบทเรียนได้ การเขียนลายมือสวย สะอาด การเขียนอิสระใช้ภาษาสละสลวยมากขึ้น เรื่องราวไม่วกวน
สื่อความหมายได้ชัดเจน ใช้ภาษาถูกต้อง และพี่จิตอาสาคือเด็กหญิงช่อผกา ทินน้อย ที่ดูแลน้องเป็นอย่างดี
ส่วนผู้ปกครอง นางจันทร์ ขาลเกตุ ผู้ปกครองเด็กหญิงกฤตยา ขาลเกตุ ได้เห็นพัฒนาการของลูกอย่างชัดเจน ร่วมสะท้อนการสอนของครูว่า ลูกเข้าเรียนชั้นอนุบาล 1 ที่โรงเรียนบ้านหินลาด ซึ่งปกติน้องฝันจะเป็นคนที่สมองช้า เอาแต่ใจตัวเอง ขี้หงุดหงิด ขี้โมโหง่าย ติดอ่างพูดช้า มีปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เพื่อนที่โรงเรียนจะไม่ชอบน้องฝันแต่ทางบ้านก็พยายามแก้ไขสอนให้เปลี่ยนแปลงตัวเอง แต่ก็ไม่ดีขึ้นจนมาระยะหลังเห็นความเปลี่ยนแปลงมากขึ้น หลังน้องฝันไปเรียนพิเศษกับคุณครูตุ้มช่วงพักเที่ยงทุกวัน ทำให้น้องอ่านออกเขียนได้ และสามารถเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์ของน้องฝันได้ ดิฉันดีใจมากที่ลูกมีผลการเรียนที่ดีขึ้น เป็นคนอารมณ์ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส มีความรับผิดชอบมากขึ้น และตอนนี้น้องฝันเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 สามารถอ่านหนังสือในชั้นเรียนได้แล้ว เขียนหนังสือลายมือสวย สะอาด ต้องขอบคุณคุณครูศิริลักษณ์ ชมพูคำ ที่เอาใจใส่ดูแลจนน้องฝันดีขึ้น และตอนนี้น้องฝันบอกว่าน้องจะช่วยดูแลนักเรียนพิเศษรุ่นน้องเพื่อช่วยคุณครู จะทำให้น้องอ่านออกเขียนได้เหมือนคุณครูดูแลน้องฝันค่ะ
ครูตุ้มปิดท้ายว่า กระบวนการ 6 ขั้นนี้นอกจากจะทำให้เด็กนักเรียนอ่านออก เขียนได้ อย่างได้ผลแล้ว ยังทำให้นักเรียนได้ฝึกตัวเองในเรื่องระเบียบวินัย ความรับผิดชอบ ความขยัน ความภูมิใจในความสำเร็จของตนเอง กว่าจะจบประถมศึกษาปีที่ 6 เชื่อว่านักเรียนจะมีความสมบูรณ์ทั้งทักษะการเรียนรู้ ทักษะชีวิต และมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ติดตัวแบบถาวร